ทริกง่ายๆ...ช่วยคุณจัดพอร์ตยามยาก

ดอกเบี้ยลด หุ้นตก ทองผันผวน ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 52 ที่ผ่านมา โดยดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับลดตัวลงแรงในช่วง 1-2 เดือนแรกของปีนี้ ก่อนที่จะกลับดีดตัวขึ้นในระยะเวลาหลังจากนั้น

ขณะที่ราคาทองคำในตลาดโลกนั้น แม้ว่าจะดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 1,000 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ แต่ก็ร่วงลงในช่วงอีกประมาณสองเดือนต่อมา ก่อนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง นับจากช่วงกลางเดือนเมษายนถึงต้นเดือนมิถุนายน แต่ก็กลับปรับฐานในช่วงหลังจากนั้น ทำให้ในภาพรวมแล้ว ราคาทองคำมีการปรับทิศทางถึง 4 ครั้งด้วยกันภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ ก็ขยับลดลงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าว ทำให้ผู้มีเงินออมอยู่ในฐานะที่ยากลำบาก เพราะนอกจากจะได้รับผลตอบแทนที่ลดน้อยถอยลงแล้ว การลงทุนในหลายตลาดยังทำให้ขาดทุนเงินต้นด้วย โดยเฉพาะเมื่อตัดสินใจลงทุน หรือขายทำกำไรผิดจังหวะ ท่ามกลางความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา หรืออัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในช่องทางลงทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 52 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า...การออมเงินในช่องทางหลักยังคงเผชิญกับความเสี่ยงหลากหลายด้าน แต่ท่ามกลางความเสี่ยงดังกล่าว ก็ยังน่าจะมีโอกาสสำหรับการออมเงินในบางช่องทาง ซึ่งยังเสนออัตราผลตอบแทนที่ดึงดูดใจ สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์

โดยตัวแปรสำคัญที่อาจมีอิทธิพลต่อการจัดสรรเงินออมในช่วงครึ่งหลังของปี 52 และต่อเนื่องไปถึงปี 53 นั้น ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ของหลายตัวแปรด้วยกัน ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อทิศทางการลงทุนในตลาดหลัก โดยตัวแปรต่างๆ เหล่านั้นที่สำคัญ ได้แก่

การฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลก ...ที่ผ่านมาสัญญาณบวกจากเครื่องชี้เศรษฐกิจ จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและคาดหวังมากขึ้นว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในลักษณะ V-Shape ส่งผลให้นักลงทุนกล้าแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ประเด็นที่ควรระมัดระวังคือ การฟื้นตัวดังกล่าว ยังคงมีความเปราะบาง เพราะหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจยังไม่ถึงจุดต่ำสุด อาทิ ปัญหาการว่างงานในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

ส่วนทิศทางอัตราเงินเฟ้อ ...จากการที่เศรษฐกิจบางประเทศในโลก อาทิ จีน และอินเดีย ยังคงขยายตัวได้ดี ประกอบกับเศรษฐกิจอีกหลายประเทศค่อยๆ มีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ เริ่มปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับทิศทางราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจโลกไม่ได้ปรากฏสัญญาณเชิงลบในลักษณะเกินความคาดหมายมากนัก การเพิ่มขึ้นของแรงกดดันเงินเฟ้อก็อาจดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงปี 53 ซึ่งมุมมองในลักษณะดังกล่าวนี้เอง น่าจะมีน้ำหนักที่ส่งผลให้การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของ ธปท.มีโอกาสยุติลงในปีหน้า

การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลไทย ...เนื่องจากรัฐบาลวางแผนการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องไปถึงปีงบประมาณ 53 เป็นอย่างน้อย ประกอบกับที่ผ่านมา รายได้จัดเก็บของภาครัฐก็ลดต่ำลงกว่าที่คาดมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยแหล่งเงินลงทุน โดยเฉพาะจากในประเทศ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณดังกล่าว อีกทั้งสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อันนำมาสู่ปริมาณอุปทานพันธบัตรของภาครัฐที่กำลังจะทยอยเข้าสู่ตลาดอีกเป็นจำนวนมาก

จากประเด็นสำคัญต่างๆ ดังกล่าว ทำให้การลงทุนในหลายตลาดและช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนใน หุ้น ทองคำ น้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ อาจยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ราคาของการลงทุนประเภทต่างๆ ดังกล่าว ก็ได้ปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างมากแล้ว และอาจทำให้โอกาสการทำกำไรระยะสั้นอยู่ในขอบเขตที่จำกัด โดยเฉพาะหากปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจยังคงมีอยู่

การจัดสรรเงินออมที่เหมาะสม ...ทางออกที่น่าสนใจในภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน สำหรับผลิตภัณฑ์การออมที่มีการนำเสนอ หรือเตรียมนำเสนอสู่ตลาดในระยะนี้ที่น่าสนใจ ได้แก่

1.พันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล ได้แก่ พันธบัตรออมทรัพย์ “ไทยเข้มแข็ง” ในปีงบประมาณ 52 มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 5 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่าง 13-21 กรกฎาคม 52 และระยะเวลาการออม 5 ปี ให้อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได คือ ร้อยละ 3 ในช่วง 1-2 ปีแรก, ร้อยละ 4 ในปีที่ 3 และร้อยละ 5 ในปีที่ 4-5 ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินประจำค่อนข้างมาก โดยพันธบัตรออมทรัพย์ดังกล่าว เหมาะสมกับผู้มีเงินออมที่ไม่ชอบความเสี่ยง มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับรองรับการลงทุนระยะยาว ขณะที่พึงพอใจกับระดับอัตราผลตอบแทนที่นำเสนอ ณ ขณะนี้

2.หุ้นกู้ภาคเอกชน เนื่องจากเป็นที่คาดหมายว่าอัตราดอกเบี้ยในระบบ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับต่ำสุดแล้วในปัจจุบัน ดังนั้น จึงทำให้ภาคธุรกิจเอกชนเตรียมทยอยออกหุ้นกู้อีกจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาทภายในช่วงครึ่งหลังของปี 52 เพื่อล็อคต้นทุนในระดับต่ำเอาไว้ ซึ่งหุ้นกู้ส่วนใหญ่ดังกล่าวน่าจะเป็นประเภทอายุปานกลางถึงยาว ขณะที่ อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่นำเสนอ ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างจูงใจ

3.ผลิตภัณฑ์เงินฝากโครงการพิเศษของธนาคารพาณิชย์ นับจากช่วงกลางเดือนมิถุนายน 52 เป็นต้นมา ธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งได้เริ่มทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากโครงการพิเศษที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำปกติ ออกสู่ตลาด โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีระยะเวลาการออมที่สั้นกว่าพันธบัตรออมทรัพย์“ไทยเข้มแข็ง” และหุ้นกู้ภาคเอกชน แต่ก็มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเช่นกัน

4.กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) อาทิ พันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล หรือสถาบันการเงินในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งทยอยนำเสนอขายสู่ตลาดหนาตาขึ้นในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศนี้ คงต้องติดตามความเสี่ยงของประเทศผู้ออกตราสารและประเภทของตราสาร ตลอดจนแนวทางการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของผู้จัดการกองทุน อันอาจมีผลต่อภาพรวมความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนของกองทุนในอนาคต

5.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) ซึ่งคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ผ่านเงินปันผลที่น่าจะขยับสูงขึ้นตามทิศทางค่าเช่าและอัตราการเช่า อย่างไรก็ตาม การออมเงินผ่านการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ข้อจำกัดด้านสภาพคล่อง และจำนวนอุปทานใหม่ ได้แก่ การออกกองทุนใหม่ หรือการออกหน่วยลงทุนเพิ่มเติม หลังจากการเพิ่มทุนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์เดิม ซึ่งคาดว่าการเพิ่มจำนวนอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดดังกล่าว อาจยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทำให้ผู้มีเงินออมที่สนใจช่องทางนี้ อาจต้องรอจังหวะการออกขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมโดย บลจ.

6.ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ซึ่งถือเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการลงทุนในระยะที่ค่อนข้างยาว โดยในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ประกันส่วนใหญ่เสนออัตราผลตอบแทนขั้นต่ำประมาณร้อยละ 2-4 ต่อปีขณะเดียวกัน ก็ยังมีสิทธิประโยชน์จากการนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 1 แสนบาทสำหรับกรมธรรม์หลักอีกด้วย

7.หุ้น เป็นทางเลือกในการออมที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงได้ โดยการลงทุนในหุ้นนั้น หากมีจุดประสงค์เพื่อคาดหวังผลตอบแทนในรูปเงินปันผลจากบริษัทจดทะเบียน ก็คงจะต้องเน้นไปที่หุ้นที่มีพื้นฐานดี ผลประกอบการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอ โดยการลงทุนในลักษณะนี้ คงจะต้องเป็นการลงทุนในระยะที่ค่อนข้างยาว

ขณะที่ หากผู้มีเงินออมมีจุดประสงค์ของการลงทุนในหุ้น เพื่อคาดหวังด้านกำไรส่วนทุนจากการขายหลักทรัพย์ ก็คงจะต้องอาศัยการซื้อและขายทำกำไรในช่วงสั้นๆ โดยมีหลักการเบื้องต้น คือ เข้าซื้อเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลง และขายทำกำไรเมื่อราคาหุ้นดีดตัวสูงขึ้น

8.กองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ เพราะลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น อาทิ ตั๋วเงินคลัง ที่ออกโดยรัฐบาล

ด้านอัตราผลตอบแทนนั้น แม้ว่าจะมีระดับที่ต่ำกว่าทางเลือกในการออมที่ความเสี่ยงใกล้เคียงกันอย่างพันธบัตรออมทรัพย์ ตามระยะเวลาการลงทุนที่สั้นกว่านั้น แต่ก็ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากประจำ ขณะที่สภาพคล่องของการลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้ ถือว่าค่อนข้างสูง เพราะจะได้รับเงินสดหลังจากส่งคำสั่งขายหน่วยลงทุนภายในระยะเวลาประมาณ 1 วันทำการ

...อย่างไรก็ตาม ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยแวดล้อมของการออมในช่วงครึ่งหลังของปี 52 นี้ จะยังปะปนไปด้วยข่าวเชิงลบ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ผู้มีเงินออมคงจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยง และอัตราผลตอบแทนของแต่ละทางเลือกในการออมอย่างรอบคอบ ตลอดจนประเมินถึงสภาพคล่องและความต้องการใช้เงินในแต่ละช่วงเวลาอย่างระมัดระวัง โดยจะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการ “วางแผนทางการเงิน” ล่วงหน้า อันจะนำมาสู่การจัดสรรพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมได้...

แหล่ง : http://www.ksmecare.com/

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น