วัย 30 สร้างรากฐานเพื่อความมั่นคง

คนส่วนใหญ่เริ่มที่จะก่อร่างสร้างครอบครัวในช่วงวัยนี้ เนื่องจากหน้าที่การงานมีความมั่นคงมากขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น แต่ภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ผู้ที่อยู่ในวัยนี้จึงน่าจะลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงมาเหลือ 50% เพราะเริ่มรับความเสี่ยงได้น้อยลง เนื่องจากเป็นวัยที่มีภาระผูกพัน มีครอบครัวที่ต้องดูแล สำหรับเงินอีก 50% ควรเก็บไว้ในหลักทรัพย์ที่เสี่ยงต่อเงินต้นหรือการรอเวลาน้อยลง อย่างเงินฝากธนาคารและตราสารหนี้


ตัวอย่างที่ยกมาเป็นเพียงแนวทางคร่าวๆ สำหรับการลงทุนให้เหมาะกับช่วงวัยของคุณเท่านั้น ซึ่งคุณสามารถที่จะปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับข้อจำกัดของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลตอบแทนที่คาดหวัง เพื่อให้มีพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวคุณเองมากที่สุด


ช่วงอายุสามสิบกว่าๆ เป็นช่วงที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูงกว่าในช่วงเริ่มต้นทำงานค่อนข้างมาก การใช้จ่ายในช่วงวัยนี้จึงควรมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ถ้าไม่ใช้ ก็ไม่ซื้อ รวมทั้งมีจัดทำงบดุลส่วนบุคคล และ งบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทราบถึงสถานะทางการเงินและพฤติกรรมการใช้จ่ายของคุณและครอบครัว

ทำไมเราควรฝึกจดทำบัญชี
คุณเคยสงสัยบ้างมั้ย... หลังจากเงินเดือนออกไปแค่ไม่กี่วัน แต่ทำไมเงินในบัญชีกลับหายเกลี้ยงไปซะเฉยๆ นึกเท่าไรก็นึกไม่ออกว่าเงินหายไปไหน สุดท้ายที่พอจะทำได้ก็คือ หยิบเครื่องคิดเลขออกมานั่งคำนวณว่าเงินที่เหลืออยู่จะพอใช้จนถึงสิ้นเดือนหรือไม่ แต่หากคุณทำบัญชีรายรับรายจ่ายอยู่เป็นประจำ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ลองมาดูประโยชน์ของการทำบัญชีรายรับรายจ่ายกัน

1.ทราบรายรับ – รายจ่ายที่แน่นอน
ทำให้คุณมีข้อมูลสำหรับการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงในอนาคต

2.ทราบพฤติกรรมการใช้จ่าย
ว่าคุณมีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยอย่างไร และฟุ่มเฟือยไปกับการซื้อสิ่งของต่างๆ ที่ไม่จำเป็นและไม่เคยใช้หรือไม่

3.ทราบสถานะของตัวเองและครอบครัว
ในปัจจุบันตลอดจนสามารถนำมาคาดการณ์การใช้จ่ายในอนาคตให้เหมาะสมได้
ป้องกันการผิดพลาดในการใช้จ่ายการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะทำให้คุณมีความรอบคอบและรัดกุมในการใช้จ่ายเงินมากขึ้น ความผิดพลาดในการใช้จ่ายก็จะลดลง

4.ช่วยในการวางแผนการใช้จ่ายและจัดสรรเงินออมให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
คุณอาจวางแผนแบ่งรายได้ออกเป็นส่วนๆ เช่น 20% เป็นเงินออม 50% เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นทั่วไป จำพวกอาหาร ที่อยู่ เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และอีก 30% ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ค่าใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และการประกันชีวิต


สรุปง่ายๆ ได้ว่า “การทำบัญชีรายรับรายจ่าย” เป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนทางความคิดให้เกิดการลด ละ เลิกใช้จ่ายสิ่งฟุ่มเฟือยต่างๆ รู้จักการเก็บออม รู้คุณค่าของการใช้เงิน รู้ฐานะการเงินของครอบครัวว่าแต่ละเดือนมีรายรับรายจ่ายเท่าไร ก่อให้เกิดเงินออม และทำให้ครอบครัวมีความสุข


ในการนำเงินออมไปลงทุนในทางเลือกต่างๆ นั้น ล้วนแต่มีผลประโยชน์ทางภาษีที่รัฐมอบให้ เนื่องจากรัฐมีนโยบายจะส่งเสริมการออม รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจบางประเภทในช่วงเวลาหนึ่งๆ ดังนั้น หากคุณเข้าใจรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ และสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐมอบให้อย่างคุ้มค่า จะช่วยให้คุณสามารถประหยัดภาษีในแต่ละปีลงได้ โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับการออมและการลงทุนมีดังนี้


1.การซื้อประกันชีวิตถ้าคุณทำประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป คุณสามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 50,000 บาท

2.การซื้อ / เช่าซื้อ / สร้างที่อยู่อาศัยถ้าคุณต้องชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ธนาคาร โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นหลักประกันการกู้ยืมนั้น คุณสามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

3.การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-term Equity Fund : LTF)คุณสามารถนำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวมาหักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

4.การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)คุณสามารถนำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพมาหักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมเข้ากับเงินสะสมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ฯลฯ


นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีรายได้บางประเภทที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้อีกด้วย ซึ่งคุณควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม รวมไปถึงการติดตามกฎระเบียบหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คุณสามารถวางแผนภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลตอบแทนจากการออมและการลงทุนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย


ที่มา : http://edu.tsi-thailand.org/