20 วิธีประหยัดเงินแบบง่าย ๆ


1. ให้ทุกคนซื้อของที่อยากได้ผลัดกันคนละเดือน เดือนละ 1 ชิ้นก็พอ แล้วก็ตั้งงบไว้ว่าจะต้องไม่เกินเท่าไหร่ด้วย

2. ข้าวของที่ซื้อมาเพราะเผลอใจ หรือเพราะอยากได้สุดขีดแต่ไม่ได้มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตเท่าไหร่ ให้จัดดิสเพลย์ไว้ในจุดที่มองเห็นง่ายๆ เดินผ่านก็นึกซะหน่อยว่าซื้อมาทำไมเงินทั้งนั้นนะที่จ่ายไป แล้วจะลดความอยากซื้อไปได้ทีละน้อยๆ

3. เวลาเปิดดูโฆษณาสินค้าราคาแพงจัด โปรดท่องไว้ว่าดีแล้วล่ะที่เราไม่รวยเว่อร์ ไม่อย่างนั้นเราคงติ๊งต๊องขนาดซื้อแปรงปัดแก้มอันละเจ็ดพันห้ามาใช้ จิตใจจะสงบลงเวลาอยากได้ของแพง

4. อย่าคิดว่าทุกอย่างที่ต้องการได้มาด้วยการซื้อไปซะหมดใช้การแลกเปลี่ยนกันบ้างไม่ต้องควักกระเป๋า ทั้งของใช้ลูก เสื้อผ้า กระเป๋า ทีของมือสองมาจากโรงเกลือยังซื้อได้ ใครใช้มั่งก็ไม่รู้ ของคนกันเองแท้ๆ ควรจะกล้าใช้มากว่า ประหยัดกว่าแถมไม่ต้องเก็บให้รกบ้านมากนัก

5. ในต่างประเทศ รู้สึกว่าจะอังกฤษ มีการลงขันเช่ารถคันเดียวผลัดกันขับไปทำงาน เหตุผลของเขาก็คือต้องการลดจำนวนรถยนต์บนถนน ใครเข้าร่วมโครงการได้สิทธิ์จอดรถฟรีในเขตธุรกิจใจกลางเมืองด้วย น่ายืมโครงการมาทำเองบ้าง หรือไม่ก็แค่ทำคาร์พูล ผลัดกันขับผลัดกันนั่งกับคนข้างบ้านไปพลางๆ ก่อน

6. เริ่มแสดงตนให้ทุกคนรู้ว่าคุณเป็นคนชอบของใช้มีประโยชน์ไม่ชอบเลยประเภทดอกไม้ช่อละ 500 ตุ๊กตาตั้งโต๊ะตัวละ 1,000 เทศกาลวันเกิด ปีใหม่ คุณอาจได้รับของขวัญไร้สีสันไปบ้าง แต่จะได้ของที่มีประโยชน์จริงๆ ประหยัดเงินซื้อเองตั้งเยอะ

7. ป่วยนอนโรงพยาบาลเดี๋ยวนี้ราคาเหมือนโดนปล้น สู้ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารดีๆ มีประโยชน์ผักใบเขียวทั้งหลาย แครอต มะเขือเทศ ฟักทอง ถั่ว งา กระเทียม ฯลฯ ผลไม้ตามฤดูกาล แค่วันละไม่กี่บาท จ่ายแพงกว่าทำไม

8. แน่ละว่าเปิดพัดลมนอนถูกกว่าติดแอร์ ถ้าติดแอร์แล้วเคยเปิดตั้งแต่ก่อนนอนถึงเช้า เวลาลุกเข้าห้องน้ำตอนใกล้สว่างลองปิดแอร์แล้วเปิดพัดลมแทนความเย็นยังอยู่ ค่าไฟก็ถูกลง

9. ประหยัดค่าเครื่องสำอางไปได้มาก ถ้าเปลี่ยนมาใช้พวกสมุนไพรธรรมชาติ น้ำผึ้ง น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา ลองดูว่าอย่างไหนใช้แล้วดี หลายคนผิวพรรณเนียนนุ่มด้วยของดีราคาถูกเหล่านี้แหละ

10. หัดซ่อมแซมของใช้ในบ้านเอง สนุกกับการตกแต่งบ้านทาสีทำของใช้เอง ลองเริ่มจากของง่ายๆ ก่อนแล้วค่อยลองซ่อมของที่ยากขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เก่ง เก็บเงินค่าจ้างมาซื้อขนมกินดีกว่า

11. ถ้าซื้อกับข้างถุงเป็นประจำ ลองสลับกับการทำกับข้าวเอง 1 อย่าง เปิดตำรากับข้าวประเภทที่ทำง่ายๆ เก็บได้นานและทำไว้มากหน่อย ถ้าทำมื้อเย็นก็เผื่อกินมื้อเช้า หรือเย็นอีกวันนึง ทำทีเดียวกินคุ้ม จ่ายน้อยกว่าแต่ได้ปริมาณที่มากกว่า

12. ชากาแฟกินเอง น้ำผลไม้คั้นเองหรือปั่นเอง ถูกกว่าและรสชาติเข้มข้นกว่าซื้อ ทำบ่อยๆ จนชินก็จะรู้สึกเสียดายเงินเวลาไปสั่งแพงๆ ตามร้าน

13. ถ้าต้องผ่อนคลายด้วยการกินหรูทุกๆ เดือน ลองหัดทำกับข้าวมื้อหรูดูเองบ้าง สลัดจานเดียวที่ร้านราคาเป็นร้อย จ่ายเท่ากันได้สลัด 1 กะละมังใหญ่กินได้ตั้งหลายคน
14. ของใช้หมดเปลืองอย่างสบู่ แชมพู ทิชชู่ หรือของกินอย่างพวกซีอิ๊ว น้ำปลา ข้าวสาร ฯลฯ ถ้าแยกไม่ออกเว้นเสียแต่ว่าใช้สบู่นี้แล้วผิวแห้งระแหงก็ค่อยเลือกในระดับที่ตัวเองรับได้ ไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพชีวิตตกต่ำสุดขีดเพื่อเก็บเงินจะเครียดเปล่าๆ

15. พกเครื่องคิดเลขติดตัวไปด้วย เวลาซื้อของหรือเข้าร้านอาหาร ตรวจใบเสร็จรับเงินทุกครั้ง ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ ตามสถิติแล้วมักเป็นการผิดพลาดแบบจ่ายเกินมากกว่า

16. เวลาจะรับบริการติดตั้งหรือซื้อของชิ้นใหญ่จ่ายเยอะซักให้ละเอียดว่านอกจากราคาตามที่โฆษณาขายแล้วให้พนักงานรวมราคาค่าอะไรต่างๆ จิปาถะให้หมดทั้งมวลก่อนจ่าย

17. คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ วิทยุ หรือเครื่องใช้อิเล็กโทรนิกส์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ถ้าหากอยากควักกระเป๋าน้อยๆ ให้เลือกที่ตกรุ่นไปแล้วหน่อยนึงและเลือกรุ่นที่มีอุปกรณ์ใช้สอยตามความต้องการ รุ่นวิริศมาหราคุณประโยชน์เอนกอนันต์ นั่นหมายถึงต้องจ่ายเพื่อสิ่งที่เราไม่ได้ใช้อย่างแน่นอน

18. ถ้าในบ้านอยู่กันหลายคน ก็ตกลงกันให้ใช้ของใช้ประจำตัวอย่างแชมพูหรือสบู่ยี่ห้อเดียวกัน ซื้อขนาดใหญ่หรือยกแพคจะถูกกว่า และอย่าลืมนึกถึงชนิดเติมด้วยจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าแพ็กเกจ

19. เริ่มตั้งแต่ต้นปี กลับจากทำงาน ช้อปปิ้งหรือไปเที่ยวหยอดเหรียญ 5 บาทหรือ 10 บาทใส่กระปุกทุกครั้งถึงสิ้นปีอาจไม่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟเดือนนั้น หรือมีงบปาร์ตี้ งบซื้อของขวัญแล้วล่ะ

20. เวลาช้อปปิ้งเดินเลียบๆ เคียงๆ เล็งดูระยะห่างก่อนรอบแรก ถ้าตรงเข้าไปซักถามราคาทันทีที่สะดุดตามักต้องซื้อเพราะความเกรงใจ หรือต้องซื้อเพราะความโดนโวยโทษฐานหยิบจับพลิกดูจนแม่ค้าคอแห้ง นึกถึงใจเขาใจเราและที่สำคัญกระเป๋าเรา

ได้วิธีง่ายๆ ไปตั้ง 20 วิธี ถ้าต้องการมากกว่านี้ ลองคิดดูเล่นๆ ก็อาจได้เพิ่มอีกเป็นร้อยข้อ ไม่เห็นจะต้องรัดเข็มขัดจนหน้าเขียวหน้าเหลืองเลย

เทคนิคเก็บเงินให้เหลือเที่ยว


นำเคล็บลับดี ๆ มาฝากกันบ้างค่ะน่าจะเป็นประโยชน์กับภาวะเศรษฐกิจหดตัว(ไม่ชะลออย่างเดียว หดด้วย) แบบนี้ยังไม่พูดถึงเรื่องการลงทุนเพื่อชดเชยกับภาวะเงินเฟ้อในอนาคต อันนี้คุยกันยาวเอาเรื่องพื้นฐาน คือ เงินออม

คนจำนวนไม่น้อย มักจะออมแบบ ได้เงินเดือนมา ใช้ ใช้ ใช้ จ่าย จ่าย จ่าย ค่าโน้น นี่ นั่น เหลือเท่าไร ค่อยเก็บรับรองว่า ถ้าออมแบบนี้ ไม่รอด ไม่เหลือเก็บหรอก ร้อยทั้งร้อย ฮ่าๆ

ถ้าคนที่มีการวางแผนที่ดีขึ้นมาหน่อย ก็จะหักเงินออมออกมาไว้เลย ได้เงินเดือนมาหมื่น หักเข้าบัญชีออมสองพัน เหลือใช้แปดพัน โน่น นี่ นั่น พอบ้างไม่พอบ้าง พอก็ดีไป แต่ไม่พอก็เอาเงินออมออกมาใช้จนได้ หมดอีกอยู่ดี ฮ่าๆ

สำคัญที่ เราต้องใส่กุญแจสองชั้น โมเดลตัวหนึ่งที่น่าสนใจและใช้ได้ผลค่อนข้างดี(กับตัวเอง) คือ
การวางแผนเงินออมเป็นเงินออมระยะสั้น กับเงินออมระยะยาวไม่ต้องอธิบายมาก ดูจากตัวอย่างจะเข้าใจได้โดยง่าย
สมมติ ได้เงินเดือน 20,000 บาท เราจะแบ่งเก็บเป็นเงินออมระยะสั้น 15 % เงินออมระยะยาว 10 %
เงินเดือนได้รับสุทธิ - เงินออมระยะสั้น - เงินออมระยะยาว = เงินเหลือใช้จ่ายในแต่ละเดือน
20,000 - 3,000 - 2,000 = 15,000
สัดส่วนการเก็บนั้นขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละคน ถ้าภาระไม่เยอะก็เก็บมากกว่านี้ได้ แต่ไม่ควรต่ำกว่านี้15,000
เงินเหลือใช้จ่าย คือ รายได้สุทธิที่หักเงินออมทั้งสองประเภทออกไปแล้ว ใช้จ่ายในเรื่องจำเป็น เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากิน ค่าเดินทาง
สรุปง่ายๆ คือ รายจ่ายที่ต้องจ่ายประจำทุกเดือนๆ อะไรที่เราจำเป็นต้องกินต้องใช้นั่นล่ะ (แยกให้ออกนะ บางคนเอาเงินส่วนนี้ไปซื้อมือถือราคาแพง แล้วบอกว่าจำเป็น ถ้าคิดแบบนี้ ระบบการออมคุณปั่นป่วนแน่)
2,000 เงินออมระยะยาว คือ เงินเก็บสะสม ไว้ใช้ตอนแก่ ตอนเกษียณ เข้าแบ๊งค์นอนตายไปเลย จะดอกเบี้ยต่ำต้อยเท่าไรช่างมัน เป็นเงินเย็น ฟรีซไว้ เพราะนี่คือหลักประกันที่มั่นคงที่สุดในยามจำเป็นที่สุด
3,000 เงินออมระยะสั้น ตัวนี้ล่ะ ที่เราบังคับ กำหนดเอาไว้ใช้จ่ายในเรื่องที่เราอยากทำ อยากมี อยากได้ อะไรที่เกิดจากกิเลสตัณหาทั้งหลาย หรือเรื่องที่ทำก็ได้ ไม่ทำก็ไม่ตาย แยกให้ขาดจากเงินเหลือใช้จ่ายในแต่ละเดือน
ยกตัวอย่างเช่น จ่ายค่าบัตรเครดิต เอาไปซื้อหุ้น ลงทุนพันธบัตร จ่ายค่าประกันที่เห็นว่าผลตอบแทนดี ทำจมูก เสริมนม หรือเอาไปเที่ยวพักผ่อน ซื้อกล้องเทพ ไปดำน้ำลิฟอบอร์ด จะทำอะไรก็เรื่องของคุณ แต่ต้องอยู่ในวงเงินนี้ อย่าได้ไปแตะกับ เงินออมระยะยาว หรือไปเบียดบังเงินใช้จ่ายรายเดือนเด็ดขาด
*** แต่ถ้ายังมีภาวะหนี้จากความต้องการข้างบนที่กล่าวมา ให้เอาเงินออมระยะสั้นส่วนนี้ไปจ่ายก่อน ไม่ต้องคิดถึงการสร้างภาระหนี้เพิ่ม จะทำให้ไม่ไปเบียดบังค่าใช้จ่ายตามปกติด้วยลองปรับใช้กันดู จะได้มีเงินเหลือไปดำน้ำกันบ่อยๆนะ


เทคนิคเก็บเงินให้ได้เงินล้าน


1.ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น ฉันต้องมีเงินล้านภายในเวลา 5 ปี
2."จดบันทึกค่าใช้จ่าย" ในแต่ละวัน สัปดาห์ และเดือน จดรายการอย่างสม่ำเสมอสักสองสามเดือน แล้วเอารายการทั้งหมดมานั่งพิจารณาดูว่าค่าใช้จ่ายรายการไหนที่ฟุ่มเฟือย และสามารถตัดลดลงไปได้
3.เปิดบัญชีแยก สำหรับเงินออม ไม่ทำบัตรเอทีเอ็ม ส่วนหนึ่งของเงินเดือนที่ได้รับ จะมากจะน้อยให้นำไปฝากเข้าบัญชีธนาคารทุกๆ เดือน แล้วอย่าไปยุ่งกับบัญชีนั้นเด็ดขาด
4."เก็บก่อนใช้" คือนำเงินไปออมก่อน เหลือเท่าไรก็ใช้ตามสบาย กำหนดจำนวนเงินที่เราต้องการออมในแต่ละเดือน เช่นกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน
5. เก็บเหรียญทั้งหลายลงกระปุก เปิดอีกบัญชีสำหรับเงินหยอดกระปุก อย่าดูถูกการสะสมเงินเล็กเงินน้อย จากก้อนเล็กๆ เติบโตกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ในอนาคตได้เชียวนะ
6.จ่ายเงินค่างวดผ่อนสิ่งของต่างๆ ที่ผ่อนหมดแล้ว เข้าบัญชีตัวเองด้วยเงินจำนวนเท่าเดิม วิธีนี้คุณไม่ต้องเดือดร้อน เพราะคุณเคยชินกับภาระการผ่อนนั้นๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขว่าคุณไม่มีภาระผ่อนอะไรใหม่ๆ เข้ามาอีกนะ

ที่มา : กระปุกดอทคอม

การออมน้อยก็รวยได้


เห็นจั่วเรื่องแล้ว คุณผู้อ่านคงแอบงงปนสงสัยกันอยู่ใช่มั้ยล่ะค่ะว่า ในยุคน้ำมันแพง ค่าแรงไม่พอใช้แบบนี้ เรื่องเงินออมนั้น คงทำได้ยากกกก ถึงยากที่สุด เพราะไหนจะผ่อนบ้าน ผ่อนรถ แล้วยังมีหนี้บัตรเครดิต ค่างวดโทรศัพท์มือถือ และข้าวของอีกมากมายก่ายกองที่เป็นภาระทุกเดือนๆ ชวนให้ปวดหัว แต่วันนี้ค่ะเรามีกลเม็ดการออมที่ คุณมัทยา ดีจริงจริง เจ้าของหนังสือขายดี "ออมน้อยก็รวยได้" แนะนำไว้เกี่ยวกับแนวคิดและวิถีการออมของโลกตะวันตก ซึ่งหากลองอ่านดูจะเห็นว่าหลายๆ วิธีก็ใช้ได้กับโลกตะวันออกได้เหมือนกัน …ไม่เชื่อลองอ่านดูค่ะ

1. ส่วนหนึ่งของเงินเดือนที่ได้รับ จะมากจะน้อยให้นำไปฝากเข้าบัญชีธนาคารทุกๆ เดือน แล้วอย่าไปยุ่งกับบัญชีนั้นเด็ดขาด ถ้าจำเป็นต้องถอนเงินส่วนนี้ ให้ถือว่ากำลังกู้เงิน เวลาคืนต้องคืนทั้งต้นทั้งดอก

2. เก็บเหรียญทั้งหลายลงกระปุก เปิดอีกบัญชีสำหรับเงินหยอดกระปุก อย่าดูถูกการสะสมเงินเล็กเงินน้อย จากก้อนเล็กๆ เติบโตกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ในอนาคตได้เชียวนะ

3. เก็บเงินคืนที่ได้รับจากเรื่องต่างๆ เข้าบัญชีธนาคาร เช่น เงินคืนตามโปรโมชั่นการซื้อสินค้า เงินคืนเบี้ยประกัน รายได้เบี้ยใบ้รายทางต่างๆ ให้รวมเป็นบัญชีเดียว แล้วทำบัญชีไว้ คุณจะได้รู้ว่า ณ สิ้นปีรายรับที่ได้จากเงินคืนพวกนี้มันมากขนาดไหน รายรับพวกนี้เป็นรายรับไม่ต้องเสียภาษี น่าเสียดายที่จะใช้ทิ้งๆ ขว้างๆ

4. จ่ายเงินค่างวดผ่อนสิ่งของต่างๆ ที่ผ่อนหมดแล้ว เข้าบัญชีตัวเองด้วยเงินจำนวนเท่าเดิม วิธีนี้คุณไม่ต้องเดือดร้อน เพราะคุณเคยชินกับภาระการผ่อนนั้นๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขว่าคุณไม่มีภาระผ่อนอะไรใหม่ๆ เข้ามาอีกนะ

5. หยุดนิสัยฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย ตัดทิ้งให้หมด ทำรายการขึ้นมาว่าต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง หลายคนแปลกใจว่ายิ่งคิดยิ่งตัดได้เรื่อยๆ

6. เพิ่มผลตอบแทนการลงทุน ไม่ควรยอมรับผลตอบแทนดอกเบี้ยต่ำ เงินออมที่มีอยู่ควรไปสร้างเงินต่อด้วยการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างสมดุลในการรับความเสี่ยงด้วย

7. เป็นสมาชิกสหกรณ์ เป็นวิธีง่ายสุดของการออมเงิน พร้อมทั้งเป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอีกต่างหาก

8. ซื้อพันธบัตรรัฐบาล สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการออกพันธบัตรประเภทต่างๆ ให้ผู้สนใจ ถ้าสนใจเข้าไปดูที่ http://www.bot.or.th/ การจำหน่ายพันธบัตรให้กับประชาชน สิ่งที่ต้องดูคือประเภทพันธบัตร อัตราดอกเบี้ย และวันจ่ายดอกเบี้ย

9. ใช้ประโยชน์จากการโอนเงินบัญชีธนาคาร เมื่อเงินเดือนถูกนำฝากเข้าในบัญชีของคุณแล้ว คุณควรให้มันอยู่ในบัญชีธนาคารให้นานที่สุด (ฮา)

10. เข้าร่วมแผนออมเงินของบริษัท แผนการออมของบริษัทเป็นแผนออมเงินแบบปลอดภาษี และนายจ้างช่วยจ่ายสมทบ เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับลูกจ้าง

11. ใช้การเสียภาษีให้เป็นประโยชน์ เรียนรู้เรื่องภาษี ประโยชน์ที่คุณไม่ควรเสียและประโยชน์ที่คุณควรได้ (เรื่องลดหย่อนนั่นเอง)

12. เข้าโครงการออมเงินที่น่าสนใจ เปิดหูเปิดตาให้กว้าง อาจมีโปรแกรมออมที่นึกไม่ถึง

13. ส้มหล่น อย่าเพิ่งกินหมดในคราวเดียว เงินก้อนใหญ่ไม่มาบ่อยครั้ง เช่น มรดก รางวัลเกมโชว์ ลอตเตอรี่ เงินปันผลกองทุน ฯลฯ เงินก้อนนี้ควรนำไปใช้ในการออมหรือลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ ทั้งนี้ อย่าลืมปรึกษามืออาชีพด้านภาษีด้วย

14. รัดเข็ดขัดชั่วคราว อยากได้อะไรมากๆ ลองรัดเข็มขัดในช่วงเวลาหนึ่งๆ เพื่อออมเงินให้มากกว่าปกติ เก็บเงินได้เท่าราคาของ แล้วจึงค่อยกลับสู่การดำเนินชีวิตปกติ

15. ฝากเงินเข้าบัญชีส่วนบุคคล เพื่อการเกษียณอายุสัปดาห์ละครั้ง ในต่างประเทศนิยมมาก มีการทำบัญชีฝากสะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายก้อนใหญ่เพียงครั้งเดียว สำหรับเมืองไทยมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งนายจ้างจ่ายสมทบให้

16. ให้นำเงินเดือนส่วนที่เพิ่มไปฝาก ถ้ารับเงินเป็นรายสัปดาห์หรือราย 2 สัปดาห์ อาจเป็นได้ว่าบางเดือนคุณจะได้รับเงินมากครั้งกว่าปกติ เช่น ถ้าได้รับเงินเป็นรายสัปดาห์ จะมี 4 เดือนที่ได้รับเงินมากครั้งกว่าปกติ หรือถ้าได้รับเงินเป็นราย 2 สัปดาห์ จะมี 3 เดือนที่คุณได้เงินเดือน 3 ครั้ง ครั้งที่เกินมาให้นำไปเข้าบัญชีเงินออม (ทันที)

17. เก็บเงินเบิกรายการต่างๆ ส่วนที่เกินจากรายจ่ายจริงเข้าบัญชีเงินออม ค่าเดินทางหรือรายจ่ายอื่นที่เบิกบริษัทได้ ควรเก็บส่วนเกินจากรายจ่ายจริงไว้ หรือคุณอาจได้ค่าล่วงเวลา ควรเก็บเงินส่วนนี้มาออมเช่นกัน เช่น ได้ค่าล่วงเวลาเดือนละ 2,000 บาท ถึงสิ้นปีจะมีเงินก้อน 2.4 หมื่นบาท สามารถนำมาใช้จ่ายในกรณีพิเศษโดยไม่ต้องไปถอนเงินออมหลัก

18. ยืมมาออม บางคนประสบความสำเร็จในการกู้เงินธนาคาร แล้วนำกลับไปฝากในบัญชีเงินออมของตนเองอีกทีหนึ่ง วิธีนี้ใช้ได้ผลกับคนที่กำลังมีค่าหักลดหย่อน (เช่น กู้ซื้อบ้าน) และใช้ได้กับช่วงเวลาที่ดอกฝากมากกว่าดอกกู้ (หลังภาษี) เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันไม่ต้องพูดถึง

19. นำเงินปันผลและดอกเบี้ยไปต่อเงินโดยอัตโนมัติ เมื่อลงทุนหรือฝากเงินในผลิตภัณฑ์ทางการเงินใด จัดการให้เงินปันผลหรือดอกเบี้ยสามารถนำฝากหรือลงทุนต่อได้อัตโนมัติ ในระยะยาวจะเห็นผลน่าพอใจ

20. ทิ้งเงินไว้ในบัญชีกระแสรายวันให้น้อยที่สุด มีคนจำนวนมากทิ้งเงินไว้ในกระแสรายวัน (เพราะปลอดดอกเบี้ย) แต่หารู้ไม่ว่ากำลังพลาดโอกาสในการทำเงิน ที่ควรก็คือมีเงินในกระแสรายวันให้พอกับรายจ่ายรายเดือน หากเงินเหลือให้โอนไปยังบัญชีเงินฝากที่มีดอกเบี้ยหรือโอนไปลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินที่มีดอกเบี้ยดีสุดในเวลานั้น

21. ใช้ประโยชน์จาก Float ความหมายของ Float คือระยะช่วงที่ผู้ถือเช็คได้รับเช็คไปจนกระทั่งถึงตอนที่ได้รับเงินสั่งจ่ายตามเช็ค กล่าวคือช่วงที่ยังไม่ได้ถูกตัดบัญชีก็ควรแช่เงินไว้ในบัญชีเงินฝากให้นานเท่าที่จะนานได้ ก่อนจะโอนไปเข้าบัญชีกระแสรายวันเพื่อตัดจ่ายเช็ค

22. จ่ายหนี้ให้หมด คุณอยากได้ผลตอบแทน 17-21% หรือเปล่า? อย่ามีหนี้บัตรเครดิตสิ เคลียร์หนี้บัตรให้หมด รู้มั้ยว่าถ้ายอดหนี้อยู่ที่ 2.4 หมื่นบาท ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งปีอยู่ที่ 4,000-5,200 บาท รีบเคลียร์หนี้ให้หมด ผลตอบแทนที่คุณจะได้คือไม่ต้องเสียดอกเบี้ยก้อนนี้ การปลอดหนี้บัตรจึงเป็นวิธีออมเงินก้อนใหญ่ แต่ถ้าจำเป็นต้องมีหนี้ (จริงๆ) หาบัตรที่ดอกถูกสุดมาใช้

เมื่อรู้ดังนี้แล้ว นักออมทั้งหลาย คงไม่ต้องรออะไรทั้งนั้น มาเริ่มต้นด้วยการวางแผนคร่าวๆ ถึงวิธีและขั้นตอนปฏิบัติ บันทึกรายการสิ่งที่ต้องทำ จากนั้นให้ลงมือทันที เน้นนะคะว่าคิดแล้วจงลงมือทำทันที ไม่งั้นเดี๋ยวไม่บรรลุจุดหมาย ไม่รู้ด้วยล่ะ
ที่มา: กระปุกดอทคอม