CEO นิ้วก้อย airasia


อ่านแล้วรู้สึกมีความหวังนะ เลยส่งให้ได้อ่านด้วยกัน
มันเป็นเรื่องของทัศนคติ และ มุมมอง ล้วนๆ พร้อมกับข้อคิดน่ารักๆ ที่พออ่านไปแล้ว ก็ " เออ...จริง "

บนโลกใบนี้ มีอะไรในอะไรอยู่เสมอ...โอกาส กับ วิกฤติ เค้าเป็นเงาตามตัวกันอยู่
ขอให้เพื่อนทุกคน มีความสุขกับทุกคืนวันในชีวิต มีภาพจำดีๆ เก็บไว้ให้นึกถึง....
ชีวิตมันไม่ได้ยืนยาวสักเท่าไหร่ เรื่องร้ายๆมันจะกล้าอยู่ นานได้ยังไง

เมื่อมีความคิดดีๆ สิ่งดีๆจะตามมา โชคดีนะ

CEO นิ้วก้อย

ทันทีที่อ่านหนังสือ a day BULLETIN เล่มใหม่จบ สิ่งแรกที่คิดก็คือ ต้องเขียนถึงคนคนนี้ "ทัศพล แบเลเว็ลด์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ "CEO" ของ "ไทยแอร์เอเชีย" สายการบินต้นทุนต่ำรายแรกของเมืองไทย

หนังสือ a day BULLETIN เป็นหนังสือแจกฟรีของค่าย a day ที่ฮิตและฮอตจนต้องเปิดรับสมาชิก จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ บทสัมภาษณ์ อย่างบทสัมภาษณ์ "ทัศพล" เล่มนี้

"ทัศพล" เป็นอดีตกรรมการผู้จัดการ "วอร์เนอร์ มิวสิค" ก่อนจะมารับตำแหน่ง CEO ของ "ไทยแอร์เอเชีย" ที่เป็นบริษัทในเครือชินคอร์ป เขาเป็นคนที่มีอารมณ์ขัน มีทัศนคติทางบวก

วันที่กลุ่มพันธมิตรฯ บุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ เครื่องบินของไทยแอร์เอเชียจอดอยู่ 10 กว่าลำ ในขณะที่คนอื่นกำลังทุกข์ เขากลับคิดในแง่ดีและมีอารมณ์ขัน "เครื่องบินของคนอื่นเขาก็จอดอยู่เหมือนกัน" เป็นความคิดแบบ "เฉลี่ยทุกข์" เราทุกข์ เขาก็ทุกข์

หรือเมื่อมีคนถามว่า เชื่อหรือไม่ว่า ทุกปัญหาที่มีทางออก "ทศพล" บอกว่าที่มีคนบอกว่ามืด 8 ด้าน แสดงว่าด้านที่ 9 ต้องมีทางออก "ไม่มีปัญหาอะไรในโลกนี้ที่ไม่มีทางออก เพียงแต่ออกไปแล้วจะบาดเจ็บหรือเปล่า แต่บาดเจ็บมากบ้างน้อยบ้างก็ดีกว่าตายไปเลย"

นอกจากอารมณ์ขันและทัศนคติทางบวกแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ "ทัศพล" CEO ของสายการบินต้นทุนต่ำมี นั่นคือ "ลูกบ้า" ลูกบ้า "ต้นทุนสูง"

วันที่ "ทัศพล" รับตำแหน่ง CEO บริษัทไทยแอร์เอเชีย มี "แอร์เอเชีย" ของมาเลเซียถือหุ้น 49% บริษัทเอเชียเอวิเอชั่น ของชินคอร์ปถือหุ้น 50% อีก 1% เป็นของ "ทัศพล"

แต่พอ "ชินคอร์ป" ขายหุ้นให้กับ "เทมาเส็ก" "ทัศพล" สัมผัสได้ถึง "ความไม่แน่นอน" เพราะ "เทมาเส็ก" นั้น สนใจเฉพาะบริษัทด้านโทรคมนาคม ส่วนธุรกิจสายการบินหรือการเงินอย่างแคปิตอล โอเค ซึ่งอยู่นอกสายธุรกิจหลัก มีโอกาสมากที่ "เทมาเส็ก" จะขายทิ้ง

สภาพเช่นนี้ทำให้พนักงานขวัญหนีดีฝ่อ มาทำงานด้วยสีหน้าที่เป็นทุกข์เพราะไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง "ทัศพล" รู้สึก ว่าเขาต้องรับผิดชอบต่อพนักงาน 1,200 คน หลายคนเขาเป็นคนชวนให้มาทำงานที่นี่โดยวาดภาพว่าบริษัทนี้อนาคตสดใส

"ถ้าวันหนึ่งผมไปบอกคนเหล่านั้นว่า โอเค...เราปิดบริษัทแล้วนะ โชคดีนะ บางทีผมอาจมองหน้าพวกเขาไม่ติดอีกเลยก็ได้ มันเป็นเรื่องที่คาใจกันไปทั้งชีวิตนี้ และชีวิตหน้า โลกหน้า...ผมคิดว่ามันไม่แฟร์สำหรับพนักงานพวกนี้"

"ทัศพล" ตัดสินใจนัดคุยกับผู้บริหารที่ร่วมบุกเบิกมาด้วยกัน 5 คน
"พรอนันต์ เกิดประเสริฐ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน
"น.อ.ธนภัทร งามปลั่ง" ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการการบิน
"ปรีชญา รัศมีธานินทร์" ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม
"ม.ล.บวรนวเทพ เทวกุล" ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
และ "สันติสุข คล่องใช้ยา" ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์


เขาชวนทั้ง 5 คนไปกินข้าวกลางวันที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ ก่อนปิดห้องประชุม "ทัศพล" เล่าถึงแนวคิดในการแก้ปัญหาความอึมครึมในบริษัท เมื่อ "เทมาเส็ก" จะขายหุ้นไทยแอร์เอเชีย แทนที่จะต้องมาลุ้นว่าขายได้-ไม่ได้ หรือจะขายให้ใคร ทำไมเราไม่ซื้อหุ้นจาก "เทมาเส็ก" เอง เปลี่ยนสถานะตัวเองจากพนักงาน เป็น "ผู้ถือหุ้น"และ "ลูกหนี้"

"ผมบอกทุกคนว่าคิดดูให้ดีนะว่าจะเอาหรือไม่เอา แล้วผมก็ส่งกระดาษชิ้นเล็กๆ ให้ทุกคนเพื่อให้เขียนว่า เอาหรือไม่เอา แค่นั้น ใครจะไม่เอาก็ไม่ว่ากัน ไม่มีการกดดันใครไม่เอาก็ยังจะทำงานด้วยกันเหมือนเดิม"

บนกระดาษชิ้นเล็กๆ ทุกใบ เขียนคำเดียวกัน "เอา"

จากนั้นกระบวนการกู้เงินก็เริ่มขึ้น ทุกคนต้องเอาบ้าน และรถมาจำนองแบงก์เพิ่ม นอกเหนือจากหุ้นไทยแอร์เอเชีย มูลค่าทั้งหมดพันกว่าล้านบาท

วันที่ผู้บริหารทั้ง 6 คนเซ็นสัญญากับแบงก์ และโอนเงินให้เทมาเส็ก "ทัศพล" เรียกประชุมทุกคนในบริษัทที่โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ ตอนหกโมงเย็น เขาประกาศว่าวันนี้ทุกคนมีงานทำต่อ เพราะผู้บริหาร 6 คนได้กู้เงินมาซื้อหุ้นคืนแล้ว พนักงานทุกคนเฮกันลั่นห้อง "ตอนนั้นผมรู้สึกเลยว่า เฮ้อ กูเป็นไทแก่ตัวแล้ว แต่จะเป็นหนี้ต่อไป"

บรรยากาศในบริษัทเปลี่ยนไปทันที ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส และให้ใจกับบริษัทเต็มที่
ตอนน้ำมันแพง พนักงานบางคนส่งเมลมาบอกว่าเธอเป็นพนักงานตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ไม่รู้จะช่วยบริษัทอย่างไร "หนูขอไม่เบิกค่าใช้จ่ายที่หนูเบิกได้ ยกเว้นค่าโอทีและเบี้ยเลี้ยง"

จนถึงวันนี้ "ทัศพล" ยืนยันว่าเขาตัดสินใจไม่ผิดที่ซื้อหุ้นจากเทมาเส็ก "ผมไม่เคยคาใจอีกเลยว่า กูไม่น่าทำเลย "

"ทัศพล" เป็น CEO ที่ให้เบอร์โทรศัพท์ของเขากับพนักงานทุกคน มีปัญหาโทร. มาได้ทันที เพราะ CEO ในความหมายของเขาไม่เหมือนกัน

"CEO แปลตามแบบของผม อ่านว่า "เสี่ยว"

"เสี่ยว" ในภาษาอีสานแปลว่า "เพื่อนรัก"

"CEO คือ คนที่จะต้องทำตัวให้เป็นที่รักของทุกคน โดยเฉพาะคนในองค์กรของเรา พอคนรักกันมันก็มีใจทำงานให้กัน"

CEO ที่ดีไม่ใช่คนที่ชี้นิ้วสั่ง

สำหรับเขา "นิ้วชี้" ห้ามใช้

ให้ใช้ "นิ้วก้อย" ที่แปลว่าเราดีๆ กันนะ

ที่สำคัญห้ามใช้ "นิ้วโป้ง" ...ห้ามโกรธกัน

*****************************************

เคล็ดลับเก็บเงินได้มากขึ้น



เห็นจั่วเรื่องแล้ว คุณผู้อ่านคงแอบงงปนสงสัยกันอยู่ใช่มั้ยล่ะค่ะว่า ในยุคน้ำมันแพง ค่าแรงไม่พอใช้แบบนี้ เรื่องเงินออมนั้น คงทำได้ยากกกก ถึงยากที่สุด เพราะไหนจะผ่อนบ้าน ผ่อนรถ แล้วยังมีหนี้บัตรเครดิต ค่างวดโทรศัพท์มือถือ และข้าวของอีกมากมายก่ายกองที่เป็นภาระทุกเดือนๆ ชวนให้ปวดหัว แต่วันนี้ค่ะเรามีกลเม็ดการออมที่ คุณมัทยา ดีจริงจริง เจ้าของหนังสือขายดี "ออมน้อยก็รวยได้" แนะนำไว้เกี่ยวกับแนวคิดและวิถีการออมของโลกตะวันตก ซึ่งหากลองอ่านดูจะเห็นว่าหลายๆ วิธีก็ใช้ได้กับโลกตะวันออกได้เหมือนกัน …ไม่เชื่อลองอ่านดูค่ะ

1. ส่วนหนึ่งของเงินเดือนที่ได้รับ จะมากจะน้อยให้นำไปฝากเข้าบัญชีธนาคารทุกๆ เดือน แล้วอย่าไปยุ่งกับบัญชีนั้นเด็ดขาด ถ้าจำเป็นต้องถอนเงินส่วนนี้ ให้ถือว่ากำลังกู้เงิน เวลาคืนต้องคืนทั้งต้นทั้งดอก


2. เก็บเหรียญทั้งหลายลงกระปุก เปิดอีกบัญชีสำหรับเงินหยอดกระปุก อย่าดูถูกการสะสมเงินเล็กเงินน้อย จากก้อนเล็กๆ เติบโตกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ในอนาคตได้เชียวนะ


3. เก็บเงินคืนที่ได้รับจากเรื่องต่างๆ เข้าบัญชีธนาคาร เช่น เงินคืนตามโปรโมชั่นการซื้อสินค้า เงินคืนเบี้ยประกัน รายได้เบี้ยใบ้รายทางต่างๆ ให้รวมเป็นบัญชีเดียว แล้วทำบัญชีไว้ คุณจะได้รู้ว่า ณ สิ้นปีรายรับที่ได้จากเงินคืนพวกนี้มันมากขนาดไหน รายรับพวกนี้เป็นรายรับไม่ต้องเสียภาษี น่าเสียดายที่จะใช้ทิ้งๆ ขว้างๆ


4. จ่ายเงินค่างวดผ่อนสิ่งของต่างๆ ที่ผ่อนหมดแล้ว เข้าบัญชีตัวเองด้วยเงินจำนวนเท่าเดิม วิธีนี้คุณไม่ต้องเดือดร้อน เพราะคุณเคยชินกับภาระการผ่อนนั้นๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขว่าคุณไม่มีภาระผ่อนอะไรใหม่ๆ เข้ามาอีกนะ


5. หยุดนิสัยฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย ตัดทิ้งให้หมด ทำรายการขึ้นมาว่าต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง หลายคนแปลกใจว่ายิ่งคิดยิ่งตัดได้เรื่อยๆ


6. เพิ่มผลตอบแทนการลงทุน ไม่ควรยอมรับผลตอบแทนดอกเบี้ยต่ำ เงินออมที่มีอยู่ควรไปสร้างเงินต่อด้วยการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างสมดุลในการรับความเสี่ยงด้วย


7. เป็นสมาชิกสหกรณ์ เป็นวิธีง่ายสุดของการออมเงิน พร้อมทั้งเป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอีกต่างหาก


8. ซื้อพันธบัตรรัฐบาล สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการออกพันธบัตรประเภทต่างๆ ให้ผู้สนใจ ถ้าสนใจเข้าไปดูที่ http://www.bot.or.th/ การจำหน่ายพันธบัตรให้กับประชาชน สิ่งที่ต้องดูคือประเภทพันธบัตร อัตราดอกเบี้ย และวันจ่ายดอกเบี้ย


9. ใช้ประโยชน์จากการโอนเงินบัญชีธนาคาร เมื่อเงินเดือนถูกนำฝากเข้าในบัญชีของคุณแล้ว คุณควรให้มันอยู่ในบัญชีธนาคารให้นานที่สุด (ฮา)


10. เข้าร่วมแผนออมเงินของบริษัท แผนการออมของบริษัทเป็นแผนออมเงินแบบปลอดภาษี และนายจ้างช่วยจ่ายสมทบ เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับลูกจ้าง
11. ใช้การเสียภาษีให้เป็นประโยชน์ เรียนรู้เรื่องภาษี ประโยชน์ที่คุณไม่ควรเสียและประโยชน์ที่คุณควรได้ (เรื่องลดหย่อนนั่นเอง)


12. เข้าโครงการออมเงินที่น่าสนใจ เปิดหูเปิดตาให้กว้าง อาจมีโปรแกรมออมที่นึกไม่ถึง


13. ส้มหล่น อย่าเพิ่งกินหมดในคราวเดียว เงินก้อนใหญ่ไม่มาบ่อยครั้ง เช่น มรดก รางวัลเกมโชว์ ลอตเตอรี่ เงินปันผลกองทุน ฯลฯ เงินก้อนนี้ควรนำไปใช้ในการออมหรือลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ ทั้งนี้ อย่าลืมปรึกษามืออาชีพด้านภาษีด้วย


14. รัดเข็ดขัดชั่วคราว อยากได้อะไรมากๆ ลองรัดเข็มขัดในช่วงเวลาหนึ่งๆ เพื่อออมเงินให้มากกว่าปกติ เก็บเงินได้เท่าราคาของ แล้วจึงค่อยกลับสู่การดำเนินชีวิตปกติ
15. ฝากเงินเข้าบัญชีส่วนบุคคล เพื่อการเกษียณอายุสัปดาห์ละครั้ง ในต่างประเทศนิยมมาก มีการทำบัญชีฝากสะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายก้อนใหญ่เพียงครั้งเดียว สำหรับเมืองไทยมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งนายจ้างจ่ายสมทบให้


16. ให้นำเงินเดือนส่วนที่เพิ่มไปฝาก ถ้ารับเงินเป็นรายสัปดาห์หรือราย 2 สัปดาห์ อาจเป็นได้ว่าบางเดือนคุณจะได้รับเงินมากครั้งกว่าปกติ เช่น ถ้าได้รับเงินเป็นรายสัปดาห์ จะมี 4 เดือนที่ได้รับเงินมากครั้งกว่าปกติ หรือถ้าได้รับเงินเป็นราย 2 สัปดาห์ จะมี 3 เดือนที่คุณได้เงินเดือน 3 ครั้ง ครั้งที่เกินมาให้นำไปเข้าบัญชีเงินออม (ทันที)


17. เก็บเงินเบิกรายการต่างๆ ส่วนที่เกินจากรายจ่ายจริงเข้าบัญชีเงินออม ค่าเดินทางหรือรายจ่ายอื่นที่เบิกบริษัทได้ ควรเก็บส่วนเกินจากรายจ่ายจริงไว้ หรือคุณอาจได้ค่าล่วงเวลา ควรเก็บเงินส่วนนี้มาออมเช่นกัน เช่น ได้ค่าล่วงเวลาเดือนละ 2,000 บาท ถึงสิ้นปีจะมีเงินก้อน 2.4 หมื่นบาท สามารถนำมาใช้จ่ายในกรณีพิเศษโดยไม่ต้องไปถอนเงินออมหลัก


18. ยืมมาออม บางคนประสบความสำเร็จในการกู้เงินธนาคาร แล้วนำกลับไปฝากในบัญชีเงินออมของตนเองอีกทีหนึ่ง วิธีนี้ใช้ได้ผลกับคนที่กำลังมีค่าหักลดหย่อน (เช่น กู้ซื้อบ้าน) และใช้ได้กับช่วงเวลาที่ดอกฝากมากกว่าดอกกู้ (หลังภาษี) เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันไม่ต้องพูดถึง


19. นำเงินปันผลและดอกเบี้ยไปต่อเงินโดยอัตโนมัติ เมื่อลงทุนหรือฝากเงินในผลิตภัณฑ์ทางการเงินใด จัดการให้เงินปันผลหรือดอกเบี้ยสามารถนำฝากหรือลงทุนต่อได้อัตโนมัติ ในระยะยาวจะเห็นผลน่าพอใจ


20. ทิ้งเงินไว้ในบัญชีกระแสรายวันให้น้อยที่สุด มีคนจำนวนมากทิ้งเงินไว้ในกระแสรายวัน (เพราะปลอดดอกเบี้ย) แต่หารู้ไม่ว่ากำลังพลาดโอกาสในการทำเงิน ที่ควรก็คือมีเงินในกระแสรายวันให้พอกับรายจ่ายรายเดือน หากเงินเหลือให้โอนไปยังบัญชีเงินฝากที่มีดอกเบี้ยหรือโอนไปลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินที่มีดอกเบี้ยดีสุดในเวลานั้น


21. ใช้ประโยชน์จาก Float ความหมายของ Float คือระยะช่วงที่ผู้ถือเช็คได้รับเช็คไปจนกระทั่งถึงตอนที่ได้รับเงินสั่งจ่ายตามเช็ค กล่าวคือช่วงที่ยังไม่ได้ถูกตัดบัญชีก็ควรแช่เงินไว้ในบัญชีเงินฝากให้นานเท่าที่จะนานได้ ก่อนจะโอนไปเข้าบัญชีกระแสรายวันเพื่อตัดจ่ายเช็ค


22. จ่ายหนี้ให้หมด คุณอยากได้ผลตอบแทน 17-21% หรือเปล่า? อย่ามีหนี้บัตรเครดิตสิ เคลียร์หนี้บัตรให้หมด รู้มั้ยว่าถ้ายอดหนี้อยู่ที่ 2.4 หมื่นบาท ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งปีอยู่ที่ 4,000-5,200 บาท รีบเคลียร์หนี้ให้หมด ผลตอบแทนที่คุณจะได้คือไม่ต้องเสียดอกเบี้ยก้อนนี้ การปลอดหนี้บัตรจึงเป็นวิธีออมเงินก้อนใหญ่ แต่ถ้าจำเป็นต้องมีหนี้ (จริงๆ) หาบัตรที่ดอกถูกสุดมาใช้


เมื่อรู้ดังนี้แล้ว นักออมทั้งหลาย คงไม่ต้องรออะไรทั้งนั้น มาเริ่มต้นด้วยการวางแผนคร่าวๆ ถึงวิธีและขั้นตอนปฏิบัติ บันทึกรายการสิ่งที่ต้องทำ จากนั้นให้ลงมือทันที เน้นนะคะว่าคิดแล้วจงลงมือทำทันที ไม่งั้นเดี๋ยวไม่บรรลุจุดหมาย ไม่รู้ด้วยล่ะ

แหล่งอ้างอิง: http://www.thaigoodview.com/

กลโกงบัตรเครดิตโดยใช้บัตรหมดอายุ



เพื่อนคนหนึ่ง ไปใช้บริการ fitness เขาเอากระเป๋าเสื้อผ้ารวมทั้งกระเป๋าเงินใส่ไว้ในล็อกเกอร์ เมื่อออกกำลังการเสร็จกลับมาที่ล็อกเกอร์ ก็พบว่า ล็อกเกอร์เปิดอยู่ เขาคิดว่า"เอ ก่อนออกไปก็ดูว่า ปิดดีแล้วนี่หน่า"เพื่อนรีบใส่เสื้อผ้าแล้วรีบเช็คดูของในกระเป๋าเงินเงินก็อยู่ครบบัตรเครดิตมีกี่ใบก็อยู่ครบ เพื่อนก็ไม่คิดอะไรมากคิดว่าคงลืมปิดล็อกเกอร์เองจริงๆ ถ้ามีคนมางัดมันคงเอาเงินเอาบัตรไปแล้ว

หลายอาทิตย์ต่อมา เมื่อ statement บัตรเครดิตมาถึงปรากฎยอดใช้จ่ายแสนสี่เท่านั้นเอง หา แสนสี่ !!!เพื่อนรีบโทรหาแบงก์ทันทีแล้วก็โวยวายทันที่ว่าเกิดมาไม่เคยคิดฝันจะใช้จ่ายได้ขนาดนั้น

ทางแบงก์ก็เช็คดูเห็นว่า system ไม่มีอะไรผิด มียอดใช้จ่ายเข้ามาจริงๆแล้วก็บอกให้เพื่อนเช็คดูว่าบัตรโดนขโมยหรือเปล่าเพื่อนก็บอกสวนไปเลยว่า "เปล่าบัตรยังอยู่เลย"ว่าแล้วก็เปิดกระเป๋าควักบัตรมาดู นั่นเลย บัตรที่บอกว่าอยู่มันบัตรคนอื่นนี่หว่าบัตรแบงก์เดียวกันเลย หน้าตาเหมือนกันเลย แต่มันเป็นของคนอื่นแล้วก็บัตรหมดอายุแล้วด้วย ไอ้ขโมยมันเปิดล็อกเกอร์ แล้วก็เอาบัตรหมดอายุมาไว้แทนแล้วก็เอาบัตรของเพื่อนไปใช้

และในเมื่อเพื่อนก็ไม่ได้แจ้งอายัติบัตรกับทางแบงก์แบงก์ก็ไม่บันทึกเข้าไปในระบบบัตรหาย เวลาขโมยไปรูดที่ไหนเดื๋ยวนี้ก็รู้กันว่าร้านค้า เวลาเช็คลายเซ็นก็ไม่ดูมาก เซ็นคล้ายๆก็ผ่านแล้วขโมยมันค่อยๆ รูด วันละนิดวันละหน่อย (มีเวลานานนี่ ตั้งหลายๆวันบาง Case หลายอาทิตย์ กว่า statement จะมา)รวมกันหลายวันก็เป็นแสนได้ แบงก์ก็แจ้งว่า ในข้อตกลงของบัตรเครดิตถ้ามีการใช้บัตรขโมย โดยเจ้าของบัตรไม่ได้แจ้งอายัติบัตรเจ้าของบัตรจะต้องรับผิดชอบชดใช้ยอดนั้นๆ

บทเรียนจากกรณีนี้ ไอ้ที่บอกว่าให้เช็คบัตรดูให้ดี มันของแน่อยู่แล้วต่อไปนี้เป็นคำแนะนำเพิ่มเติม

1. อย่าถือบัตรเครดิตหลายๆ ใบ เลือกเอาเจ้าที่คิดว่าบริการดีที่สุด 1-2 ใบแล้วยกเลิกบัตรที่เหลือไปซะ ถึงขโมยมันจะเปลี่ยนบัตรไปเมื่อคุณเอาบัตรมาใช้คราวต่อไป (อาจจะเป็นวันเดียวกันหรือวันถัดไป)คุณก็จะรู้ว่าบัตรโดนขโมยไป ถ้าถือบัตรหลายใบ ขโมยมันแค่ดูที่รอยรูดก็รู้ว่าบัตรใบนั้นใช้บ่อยหรือไม่ มันจะเลือกใบที่ไม่มีรอยรูดเพราะรู้ว่าคุณไม่ค่อยได้สนใจใช้

2. พยายามทำบัตรเครดิตของตัวให้มีข้อสังเกตพิเศษ ไม่เหมือนใครเช่น PhotoCard มีรูปตัวเอง รูปหมา รูปแมวบนบัตรอ, บัตรมีรอยบิ่นูปนิดหน่อย,บัตรมี sticker ส่วนตัวแปะอยู่ (เดี๋ยวอ่าน กรณีที่ 2 จะเห็น ว่ามีประโยชน์)

3. ในเมืองไทย ถ้าขโมยได้บัตรเครดิตไป โดยเจ้าของบัตรรู้และแจ้งอายัติจะเอาไปใช้ในเมืองไทยไม่ค่อยได้ ขโมยจึงต้องการช่วงเวลาก่อนที่เจ้าของบัตรจะรู้ตัวให้นานที่สุด


และปัจจุบันเครือข่ายบัตรเครดิตปลอมมันเป็นพวก Inter มัน copy ข้อมูลบัตรไปให้พวกมันในประเทศอื่นช่วยกันใช้ได้ด้วย

เพื่อนอีกคนไปกินอาหารในภัตตาคารแล้วก็จ่ายค่าอาหารด้วยบัตรเครดิตโดยมอบให้บ๋อยภัตตาคารเอาไปรูด เมื่อบ๋อยเอาบัตรเครดิตมาคืนปกติเพื่อนก็จะเก็บเข้ากระเป๋าเลยไม่เช็คมาก แต่วันนั้นโชคดีเพื่อนดันสังเกตว่าบัตรที่บ๋อยคืนมามันเป็นบัตรของคนอื่นที่หน้าตาของบัตรเหมือนกันเด๊ะ แต่หมดอายุแล้วตอนแรกเพื่อนก็ไม่คิดอะไรมาก คิดว่าเป็นความผิดพลาดของ Cashierจึงเรียกบ๋อยมาบอกว่าหยิบบัตรผิดมาให้

แต่มันน่าสังเกตว่า...บ๋อยไม่มีท่าทีประหลาดใจอะไรเลย มันหยิบบัตร ขอโทษแล้วเดินกลับไปหา Cashier ทำมือโบกบัตรให้ Cashier ดู Cashierก็ไม่ทำท่าประหลาดใจใดๆ รีบหยิบบัตรของเพื่อนเปลี่ยนให้แบบเฉยเมยไม่พูดอะไรกันสักคำ บ๋อยก็เอาบัตรของเพื่อนมาคืนให้แล้วขอโทษใช่แล้ว มันเป็นพวกขโมยบัตรเครดิต

ถ้าเราไม่เช็คบัตรแล้วกลับไปมันอาจมีเวลาถึง 24 ชั่วโมงในการใช้บัตรของคุณก่อนที่คุณจะใช้บัตรครั้งต่อไปแล้วพบว่าวงเงินเต็ม บทเรียนจากกรณีนี้
1. เช็คบัตรเครดิตที่คืนมาทุกครั้ง แม้ว่าบัตรจะพ้นสายตาของเราไป
2. พยายามทำบัตรเครดิตของตัวให้มีข้อสังเกตพิเศษ ไม่เหมือนใคร

ความคิดระหว่าง คนรวย คนชั้นกลาง


ในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ ใครๆๆย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกอย่างแพงขึ้น เป็นทวีคูณ....นาทีนี้เชื่อว่าหลายคนที่ใช้รถ คงต้องแบกภาระค่าน้ำมันกันจนไหล่แทบหลุด เพราะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้นทุกๆ วัน ได้มีโอกาสอ่านบทความ บทความหนึ่งในเว็บไซด์ก็เลยเก็บมาฝากลองอ่านดูนะค่ะ.....

**** เผื่อได้แง่คิดดีๆๆ เพื่อที่ว่าเราจะได้รู้ว่าเราอยู่ในด้านไหนของสังคมและจะต้องทำอย่างไรเพื่อที่ว่าเราจะได้ย้ายจากการมีแนวโน้มที่จะเป็นคนชั้นกลางสู่การเป็นคนรวยกันค่ะ...*****

10 ความแตกต่าง ระหว่าง คนรวย กับ คนชั้นกลางความแตกต่าง


ข้อแรก เศรษฐีนั้นคิดยาวแต่คนชั้นกลางคิดสั้น

ว่าที่จริงคนที่คิดสั้นที่สุดก็คือคนจน พวกเขามักจะคิดอะไรแบบวันต่อวันทำนองหาเช้ากินค่ำ คนชั้นกลางนั้นมักจะคิดเป็นเดือนต่อเดือน นั่นคือคิดถึงวันเงินเดือนออก แต่คนรวยจะต้องคิดยาวเป็นปี ๆ หรือเป็นสิบ ๆ ปี ในใจของคนจนนั้น เขามักคิดแต่เฉพาะเรื่องของความอยู่รอดเป็นหลัก ในขณะที่คนชั้นกลางคิดถึงเรื่องความสุขสบายจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้า ส่วนคนรวยนั้น เป้าหมายของพวกเขาชัดเจน เขาต้องการความเป็นอิสระทางการเงิน การคิดยาวนั้นมีพลังมหาศาล เพราะมันจะทำให้เขาอดออมและลงทุนระยะยาวซึ่งจะทำให้เงินงอกเงยแบบทบต้นเป็นเวลานาน และนี่คือสูตรสำคัญที่สุดในการที่จะทำให้คนมั่งคั่ง


ข้อสอง คนรวยพูดเกี่ยวกับเรื่องไอเดีย คนชั้นกลางพูดเกี่ยวกับสิ่งของ และคนจนพูดถึงเรื่องของคนอื่น

นี่คงไม่ได้หมายถึงว่าคนรวยไม่พูดเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งของหรือคนอื่น แต่หมายถึงว่าคนรวยจะพูดถึงเรื่องของคนอื่นน้อยกว่าคนจนและมักจะเป็นคนที่มีแนวความคิดดี ๆ หรือมีมุมมองต่าง ๆ มากกว่าคนชั้นกลางและคนจน เบื้องหลังของนิสัยในเรื่องนี้คงอยู่ที่ว่า คนรวยนั้นมักจะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนจนซึ่งมักจะชอบ “ซุบซิบนินทา” เป็นนิจสิน ในขณะที่คนชั้นกลางอาจจะเน้นการทำงานประจำ ชอบพูดถึงเรื่องรถยนต์ ดนตรี การพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น


ข้อสาม คนรวยยอมรับการเปลี่ยนแปลง คนชั้นกลางต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

คนชั้นกลางรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงจะคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ที่ตนเองเคยชิน ในขณะที่คนรวยนั้นคิดว่าการเปลี่ยนแปลงอาจนำมาซึ่งชีวิตที่ดีกว่า เขาคิดว่าในการเปลี่ยนแปลงนั้นมักมีโอกาสที่เขาอาจจะฉกฉวยได้ เบื้องหลังนิสัยนี้อาจจะมาจากการที่คนรวยมีความมั่นใจสูงกว่าคนชั้นกลางที่มักจะกลัวว่าตนเองจะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ ๆ ได้


ข้อสี่ คนรวยกล้ารับความเสี่ยงที่ได้มีการพิจารณาและไตร่ตรองดีแล้ว คนชั้นกลางกลัวที่จะรับความเสี่ยง

นี่เป็นนิสัยที่เป็นจุดอ่อนมากที่สุดของคนชั้นกลางในความเห็นของผม คนที่ไม่ยอมรับความเสี่ยงเลยนั้นจะพลาดที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีโดยสิ้นเชิง ในขณะที่คนที่กล้ารับความเสี่ยงอย่างที่ได้มีการศึกษามาเป็นอย่างดีจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้โดยที่ความเสี่ยงจริง ๆ นั้นจะมีน้อยมาก ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ คนชั้นกลางส่วนใหญ่นั้นมักจะกลัวการลงทุนในหุ้นหรือตราสารการเงินที่มีความผันผวนของราคาโดยที่เขาไม่พยายามศึกษาว่าในระยะยาวแล้วมันอาจจะมีความคุ้มค่ากว่าการฝากเงินในธนาคารมาก ในอีกมุมหนึ่ง คนที่กล้ารับความเสี่ยงอย่าง “บ้าบิ่น” เช่นคนที่เล่นหุ้นวันต่อวันเองก็ไม่ใช่นิสัยของคนรวย คนรวยนั้นจะต้องรับความเสี่ยงเฉพาะที่มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว


ข้อห้า คนรวยเรียนรู้และเติบโตตลอดชีวิต คนชั้นกลางคิดว่าการเรียนรู้จบที่โรงเรียน

นิสัยการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ นี้ ผมคิดว่าเป็นหัวใจเศรษฐีจริง ๆ เพราะในความรู้สึกของผมเอง การเรียนรู้จากโรงเรียนเป็นเพียงพื้นฐานที่เรานำมาศึกษาต่อด้วยตนเองได้ และเวลาหลังจากการเรียนในโรงเรียนนั้นยาวมากเป็นหลายสิบปี ดังนั้น ความรู้ส่วนใหญ่จึงควรที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่เราเรียนจบจากโรงเรียน โดยนัยของข้อนี้ คนรวยจึงน่าจะมีนิสัยรักการอ่านหรือการหาความรู้ต่อไปเรื่อย ๆ ในขณะที่คนชั้นกลางนั้น พอเรียนจบก็มักจะไม่สนใจอ่านหนังสือหรือหาความรู้ใหม่ ๆ และความรู้ที่ผมคิดว่าคนชั้นกลางพลาดไปเพราะไม่มีการสอนในโรงเรียนก็คือ ความรู้ทางด้านการเงินที่คนรวยมักจะศึกษาต่อเพราะเห็นถึงความสำคัญและอาจนำไปสู่ความร่ำรวยได้


ข้อหก คนรวยทำงานเพื่อหากำไร คนชั้นกลางทำงานเพื่อจะได้ค่าจ้าง

คนรวยมองว่านี่คือหนทางที่จะทำให้รวยได้มากกว่าแม้ว่าจะมีความเสี่ยง ในขณะที่คนชั้นกลางนั้นมักจะไม่กล้าเสี่ยงและอาจจะมีความคิดสร้างสรรค์น้อยกว่า จึงมุ่งไปที่การหางานที่จะมีรายได้แน่นอน แต่รายได้จากการใช้แรงงานของตนเองนั้น มีน้อยคนที่จะทำให้ตนเองรวยได้ข้อเจ็ด คนรวยเชื่อว่าพวกเขาจะต้องใจบุญสุนทาน คนชั้นกลางคิดว่าพวกเขาไม่มีปัญญาที่จะทำบุญ ข้อนี้ผมเองคงไม่มีคอมเม้นท์อะไร ส่วนหนึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจเนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องของแต่ละคนที่ไม่ค่อยบอกหรือรู้กันยกเว้นกรณีที่เป็นการบริจาคใหญ่ ๆ อย่างกรณีของบัฟเฟตต์หรือบิลเกต


ข้อแปด คนรวยมีแหล่งรายได้หลากหลาย คนชั้นกลางมีเพียงหนึ่งหรือสองแหล่ง

ข้อนี้ก็เช่นกัน ผมเองไม่แน่ใจว่าคนรวยมีรายได้จากหลายแหล่งเพราะรวยแล้วจึงไปลงทุนในทรัพย์สินหลาย ๆ อย่าง หรือมีทรัพย์สินหลายอย่างจึงทำให้รวย แต่ที่ผมเห็นชัดเจนก็คือ คนชั้นกลางนั้น มักไม่ลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงทำให้รายได้มักจะมาจากเงินเดือนเป็นหลัก


ข้อเก้า คนรวยเน้นการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งของตนเอง คนชั้นกลางเน้นการเพิ่มของเงินเดือน

เป้าหมายของคนรวยนั้นอยู่ที่ว่าตนเองมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนโดยมองที่ภาพรวม ดังนั้น ถ้าเขามีหุ้นอยู่ การที่หุ้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเขาก็มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นโดยที่เขาไม่ต้องเสียภาษี แต่คนชั้นกลางพยายามทำงานเพื่อให้มีเงินเดือนสูงขึ้นแต่เขาอาจจะลืมไปว่าเขาจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นด้วย สรุปก็คือ คนรวยเน้นการลงทุนใช้เงินทำงานแทนตนเอง คนชั้นกลางเน้นการใช้แรงงานของตนเองสุดท้าย


ข้อสิบ คนรวยชอบตั้งคำถามที่เป็นบวกและสร้างกำลังใจ เช่น ฉันจะสร้างรายได้เป็นเท่าตัวในปีนี้ได้อย่างไร? ในขณะที่คนชั้นกลางชอบตั้งคำถามที่เป็นลบและเสียกำลังใจเช่น จะหาเงินมาจ่ายหนี้ค่าบัตรเครดิตเดือนนี้ได้อย่างไร ?


และนั่นก็คือความแตกต่าง 10 ข้อระหว่างคนรวยกับคนชั้นกลางที่มีคนตั้งข้อสังเกตไว้

***ส่วนใหญ่น่าจะเป็นจริง คนรวยบางคนก็มีคุณสมบัติที่เป็นแบบคนชั้นกลาง และคนชั้นกลางจำนวนมากก็มีนิสัยแบบคนรวย แต่ถ้าเราอยากรวย คิดว่า การยึดนิสัยแบบคนรวยน่าจะทำให้เรามีโอกาสมากกว่าค่ะ **** ๙๙๙๙๙ ***


ที่มา : http://share.psu.ac.th/

แผนการเงินสาวโสด


M&W Family Finance
ด ร . สุ ว ร ร ณ ว ลั ย เ ส ถี ย ร : เรื่อง Case # 3:
A SINGLE Family
กรณีศึกษาที่ 3 : ครอบครัวของสาวโสด

นักจิตวิทยาบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมชอบอยู่กันเป็นหมู่เป็นเหล่า ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงมีครอบครัว มีลูก อย่างไร ก็ตาม สังคมในปัจจุบันมีทิศทางที่ทำให้คน เราต้องพึ่งตัวเองมากขึ้น บางครั้งก็มี ความกดดันในด้านต่างๆ จนไม่อยากจะไป เอาใจใคร หรือขัดใจใคร จึงคิดว่าอยู่คนเดียวจะมีอิสระและสะดวกสบายกว่า หากถามว่าชีวิตโสดกับชีวิตคู่ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ก็คงตอบได้สั้นๆ ว่า ดีพอๆ กัน เพราะเปรียบแล้ว คนที่แต่งงานเหมือนคน ที่อยากจะทานข้าวก็ต้องซาวน้ำและหุงข้าว ให้ดี เมื่อข้าวสุกแล้วก็จะทานอิ่มอร่อย แต่ ถ้าหากเร่งไฟแรงไป ข้าวก็จะไหม้ ทานแล้ว ไม่เป็นสับปะรด ซึ่งเทียบได้กับการแต่งงาน หากเข้ากับคู่ชีวิตได้ดี ก็ย่อมจะมีความสุขไป ถึงชั้นลูกชั้นหลาน ในทางตรงกันข้าม คน ที่อยู่เป็นโสดก็เสมือนคนไม่อยากกินข้าวจึงไม่ต้องเสียเวลาไปหุงหา แต่ก็อดลิ้มรส ความสุขของการกินข้าว

สาวโสดรับราชการ
นางสาวลัดดา อายุ 33 ปี ยังไม่แต่งงาน อาชีพรับราชการอยู่กระทรวงแห่งหนึ่ง เงินเดือนปีหนึ่ง ประมาณ 250,000 บาท ลัดดาเคยคบกับผู้ชาย 2-3 คน แต่ก็ไม่ถูกใจ จึงคิดว่าจะอยู่เป็นโสดไป ตลอดชีวิต การเป็นอยู่จึงค่อนข้างเรียบง่ายโดยมีเงินออมปีหนึ่งประมาณ 100,000 บาท ดังนี้

ลัดดาเพิ่งได้รับมรดกจากคุณแม่เป็นที่ดิน อยู่ในละแวกใกล้บ้านซอยสุทธิสารเช่นกัน เธอ เกรงว่าเงินออมปีละเพียง 100,000 บาท จะไม่พอใช้จ่ายเมื่ออายุมาก จึงคิดจะสร้างหอพัก บนที่มรดกเพื่อเปิดให้เช่าประมาณ 80 ห้อง หาก ได้ค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาทต่อห้อง ปีหนึ่งจะได้ค่าเช่าเกือบ 3,000,000 บาท แต่ต้องกู้เงิน 15 ล้านบาท เพื่อก่อสร้าง โดยเบิกเงินกู้ไปแล้ว 4 ล้านบาท ส่วนบ้านที่ซื้อไว้เดิมราคา 1,000,000 บาท ก็ปล่อยเช่าเดือนละ 10,000 บาท ขณะนี้ ราคาตลาดของบ้านปรับขึ้นมาเป็น 2,000,000 บาทแล้ว

1. การกู้เงิน 15,000,000 บาท เพื่อมาสร้างหอพักเป็นความคิดที่ดี แต่ต้องระวังว่าธุรกิจมีทั้งขาขึ้นและขาลง ดังนั้น เงินกู้ดังกล่าวควรเอาเฉพาะที่ดินและอาคารหอพักเป็นประกัน เผื่อ ว่าเมื่อสร้างแล้วเกิดไม่มีผู้มาพัก หรือ ไม่มีเงินผ่อนจ่ายหนี้คืนธนาคารได้เพียงพอ หากในที่สุด ต้องถูกยึด ก็จะได้เสียเฉพาะที่ดิน ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ สัญญากู้เงินไม่เปิดโอกาสให้ธนาคาร มาฟ้องร้องเอาไปชำระหนี้ คนเราต้องระวังว่าธุรกิจมีความเสี่ยงอยู่เสมอ จึงควรจำกัดความ เสี่ยงโดยระบุไว้ในสัญญากู้ยืมให้แจ้งชัด อย่าเอาทรัพย์สินส่วนตัวไปผูกพัน

2. หลายคนถามว่าควรทำหอพักในชื่อส่วนตัวหรือในชื่อบริษัท ผมขอแนะนำว่า เนื่องจากที่ดิน มรดกที่ลัดดาได้รับไว้อยู่ในชื่อส่วนตัว จึงควรทำหอพักในชื่อของส่วนตัวไปก่อน เพราะเมื่อ เริ่มต้นยังไม่แน่ว่าจะประสบผลสำเร็จแค่ไหน ต่อไปในภายภาคหน้าเมื่อกิจการเจริญมั่นคง มากขึ้น รายได้เป็นล่ำเป็นสันแล้วหากจะคิดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนมารับช่วงธุรกิจหอพัก ค่อยตัดสินใจอีกทีหนึ่ง การตั้งเป็นบริษัท ลัดดาต้องเอาใจใส่ในเรื่องการทำบัญชี เก็บใบเสร็จ รวมตัวเลขรายได้รายจ่าย ซึ่งถือเป็นภาระอย่างหนึ่ง และหากเป็นคนที่ไม่ถนัดในเรื่องนี้ก็จะต้องจ้างคนมาช่วยดูแล แม้จะมีค่าใช้จ่าย แต่ก็คุ้มที่จะทำ

3. ประเทศไทยไม่มีภาษีมรดก ดังนั้น ที่ดินที่ลัดดาได้รับจึงไม่ต้องเสียภาษีแต่ประการใด ผมเชื่อว่าประเทศเรานี้ไม่มีภาษีมรดก เพราะคนไทยเราก็เสียภาษีนับสิบอย่างแล้ว รัฐบาลควร ไปเก็บภาษีเหล่านั้นให้ทั่วจะดีกว่ามาประกาศใช้ภาษีประเภทใหม่ และขนบธรรมเนียมก็คือ คนไทยจะเก็บทรัพย์สมบัติให้ลูกหลาน

4. เมื่อหอพักเริ่มมีรายได้แล้ว ลัดดาควรเก็บเงินออมเป็นเงินสดให้มากกว่านี้ โดยผมแนะนำ ให้ไปซื้อกองทุนแบ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ครึ่งหนึ่งที่ให้ผลตอบแทน 3-4 เปอร์เซ็นต์ และซื้อกองทุนหุ้นอีกครึ่งหนึ่งซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่า เนื่องจากลัดดาต้องการเก็บเงินไว้ใช้ในระยะยาว การลงทุนในกองทุนหุ้นจะมีโอกาสได้กำไรมากกว่ากองทุนประเภทอื่น เพราะขณะนี้ รัฐบาลดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลาดหุ้นจึงมีแนวโน้มจะมั่นคงกว่าสมัยก่อน เพราะกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ

5. เนื่องจากลัดดาเป็นโสดและไม่มีภาระประการใด จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประกันชีวิต เงิน ที่ออมได้ เก็บไปลงทุนเองจะได้ผลเร็วกว่า เพราะการออมเงินผ่านประกันชีวิต ลัดดาจะได้ ผลตอบแทนเพียงครึ่งเดียว เบี้ยประกันอีกครึ่งหนึ่งเป็นผลกำไรของบริษัทประกันและค่า นายหน้าที่ตัวแทนเรียกเก็บ ส่วนเงินที่ให้หลานเป็นค่าเล่าเรียนปีละ 20,000 บาท ก็ให้เท่ากับเป็นการทำกุศลให้แก่ญาติผู้ใกล้ชิด โดยลัดดาอาศัยอยู่กับคุณพ่อซึ่งเกษียณอายุจาก ราชการแล้ว คุณพ่อก็มีเงินบำเหน็จบำนาญใช้ส่วนตัวอยู่แล้ว ไม่ต้องพึ่งพาเงินจากลัดดา

6. การทำธุรกิจอพาร์ตเมนต์ห้องเช่า นอกจากจะต้องเสียภาษีเงินได้โดยค่าเช่าหักรายจ่ายได้ 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 70 เปอร์เซ็นต์ นำมาคำนวณภาษีตามอัตราบุคคลธรรมดา หรือหากให้เช่าในนามของบริษัทก็เสียภาษี 30 เปอร์เซ็นต์ของผลกำไร แต่ถ้าผู้ประกอบกิจการ ลงทุนมาก อาจใช้วิธีหักค่าใช้จ่ายตามจริง ซึ่งมีทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าเสื่อม ค่าสึกหรอ ค่าบำรุงรักษา และค่าจ้างพนักงาน นอกจากนี้ ลัดดายังต้องเสียภาษีโรงเรือน 12.5 เปอร์เซ็นต์ของค่าเช่าหรือค่ารายปีด้วย ตามที่เทศบาลหรือเจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่นจะเรียกเก็บ ซึ่งค่ารายปีนี้อาจเจรจาตกลงกันได้ เพราะห้องเช่ามิใช่จะมีค่าเช่าอัตราเดียวหรือมีผู้เช่าเต็มตลอดทั้งปี ทางราชการมักจะมีสูตรในการคิดค่าภาษีโรงเรือน
ที่มา : http://finansa-asset.com/