วิธีคิดของคนรวย

1. คนรวยเชื่อว่า "ฉันควบคุมชะตาชีวิตของตัวเอง" คนจนเชื่อว่า "ฉันถูกลิขิตให้เป็นอย่างนี้"

2. คนรวยเล่นเกมการเงินเพื่อที่จะเอาชนะ คนจนเล่นเกมการเงินเพื่อไม่ให้แพ้

3. คนรวยทุ่มเทเพื่อความรวย คนจนแค่อยากรวย

4. คนรวยคิดการใหญ่ คนจนคิดการเล็ก

5. คนรวยมุ่งความสนใจไปที่โอกาส คนจนมุ่งความสนใจไปที่อุปสรรค

6. คนรวยชื่นชมผู้ร่ำรวยและประสบความสำเร็จคนอื่นๆ คนจนชิงชังผู้ร่ำรวยและประสบ ความสำเร็จ

7. คนรวยคบหาสมาคมกับคนที่มองโลกในแง่ดีและประสบความสำเร็จ คนจนขลุกอยู่กับคน ที่มองโลกในแง่ร้ายหรือไม่ประสบความสำเร็จ

8. คนรวยเต็มใจโปรโมทตัวเองและคุณค่าของตนเอง คนจนมองการขายและโปรโมชั่นในแง่ลบ

9. คนรวยมองปัญหาเป็นเรื่องเล็ก คนจนมองปัญหาเป็นเรื่องใหญ่

10. คนรวยเป็นผู้รับที่ยอดเยี่ยม คนจนเป็นผู้รับที่ยอดแย่

11. คนรวยเลือกที่จะได้รับเงินตามผลงาน คนจนเลือกที่จะได้รับเงินตามระยะเวลาที่ทำงาน

12. คนรวยเลือก "ทั้งสองทาง" คนจนเลือก "ทางใดทางหนึ่ง"

13. คนรวยสนใจมูลค่าทรัพย์สิน คนจนสนใจแต่รายได้จากการทำงาน

14. คนรวยเก่งเรื่องการบริหารเงิน คนจนเก่งเรื่องการบริหารเงินแบบผิดๆ

15. คนรวยให้เงินทำงานหนักเพื่อตัวเอง คนจนทำงานหนักเพื่อให้ได้เงิน

16. คนรวยมุ่งไปข้างหน้าแม้จะหวาดกลัว คนจนปล่อยให้ความกลัวหยุดยั้งตนเอง

17. คนรวยเรียนรู้และเติบโตอยู่ตลอดเวลา คนจนคิดว่าตัวเองรู้ดีอยู่แล้ว

ปัญหาทุกปัญหามีทางออกเสมอ เพียงแต่คุณมองไม่เห็น หรือเห็นแต่ไม่มองมัน สิ่งเดียวที่ขังคุณไว้ในปัญหาคือความคิดของคุณเอง คนแต่ละคนอาจจะมีไม่เท่ากัน แต่ทุกคนมีทุกอย่างพอในตัวเองที่จะมีชีวิตที่ดีที่สุด อย่างที่ชีวิตควรจะเป็น ชีวิตคนมีกายมีใจไม่ต่างกัน ความต่างอยู่ที่คนๆนั้นจะได้รับบทเรียนพอที่จะจริงใจกับตัวเองในการแก้ปัญหาและสร้างชีวิตใหม่หรือเปล่า หากคุณคือคนหนึ่งที่ต้องการสร้างชีวิตใหม่ กล้าที่จะเปลี่ยนความคิดใหม่ครับ "แค่เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตก็เปลี่ยน"

ที่มา : http://thaigetrich.blogspot.com/

50 + บริหารจัดการความเสี่ยงให้สมดุล


ช่วงอายุ 55 ปีขึ้นไป บางคนไม่มีรายได้แล้ว บางคนก็เหลือเวลาที่จะหารายได้อีกไม่ถึง 5 ปี ไม่มีเวลาพอสำหรับการลงทุนระยะยาวอีกต่อไป เป็นช่วงที่ยอมรับควรเสี่ยงได้น้อยที่สุด เงินออมเกือบทั้งหมดที่มีคือ 90% ควรนำไปฝากธนาคารหรือซื้อตราสารหนี้ต่างๆ เพื่อให้ได้รับดอกเบี้ย และอาจแบ่งเพียง 10% ไปลงทุนซื้อหุ้น เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่หากว่าผิดคาดเกิดสูญเงินก้อนนี้ไปบางส่วน ก็คงไม่กระทบการเงินโดยรวมมากนัก

การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ
หลังจากที่คุณได้ตรากตรำทำงานมาจนถึงช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็ใกล้จะถึงช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต นั่นคือ “ช่วงเวลาแห่งการเกษียณอายุ” ซึ่งผู้ที่มีการเตรียมตัวและวางแผนล่วงหน้าไว้เป็นอย่างดี จะสามารถยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ ตลอดจนสามารถดำเนินชีวิตในช่วงหลังเกษียณอายุได้อย่างมีความสุข

- สุขภาพร่างกาย เมื่ออายุมากขึ้น ระบบต่างๆ ของร่างกายจะค่อยๆ เสื่อมสมรรถภาพลง ซึ่งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายสดชื่น แจ่มใส และชะลอความชราได้ นอกจากนี้การรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง และการตรวจสุขภาพประจำปีก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงด้วยเช่นกัน


- จิตใจ การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและสภาวะแวดล้อมต่างๆ ในช่วงหลังเกษียณอายุ ย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ของคุณ เช่น เศร้า เฉยเมย หรือเอาแต่ใจมากขึ้น ฯลฯ แต่คุณสามารถสร้างความสุขหลังเกษียณได้ด้วยการยอมรับ เรียนรู้ และพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ให้ได้ ซึ่งการหัวเราะหรือยิ้มแย้มจะช่วยให้คุณสดชื่นกระปรี้กระเปร่า และผ่อนคลายความตึงเครียดลงได้


- วิถีชีวิตหรือสังคม หลังจากเกษียณอายุแล้วมักจะมีเวลาว่างมากขึ้น หลายคนอาจเลือกที่จะใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และสร้างคุณค่าให้กับชีวิต เช่น การไปช่วยงานตามชมรม สมาคม หรือมูลนิธิต่างๆ ฯลฯ นอกเหนือจากการช่วยทำงานบ้านตามความสามารถและความถนัด


- สถานะทางการเงิน ช่วงหลังเกษียณเป็นช่วงที่คุณต้องนำเงินออมที่เก็บสะสมไว้ออกมาใช้จ่าย แต่หากคุณไม่มีการวางแผนที่ดี เงินออมที่เกิดจากการทำงานเก็บเงินมาตลอดทั้งชีวิต จะค่อยๆ ลดลง และอาจไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในช่วงหลังเกษียณ ดังนั้น คุณจึงจำเป็นต้องออมและลงทุนอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ตลอดจนวางแผนการจัดสรรเงินออมออกมาใช้แต่ละเดือนหลังเกษียณอายุ และวางแผนหารายได้เพิ่มเติมในช่วงหลังเกษียณอายุด้วย

การวางแผนเกษียณอายุเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการเตรียมตัวที่ดีและมีความพร้อมในทุกๆ ด้านจะทำให้คุณมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวและสังคมได้อย่างมีความสุข ในช่วงบั้นปลายชีวิต

ที่มา : http://edu.tsi-thailand.org

วัย 40 ค้นหาการลงทุนที่เหมาะสม


ช่วงอายุ 41-55 ปี เป็นช่วงที่มีรายได้สูงสุด มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน แต่ก็เป็นช่วงที่มีรายจ่ายสูงสุดเช่นกัน เพราะมีทั้งค่าจับจ่ายใช้สอย ค่าเล่าเรียนบุตร สำหรับการลงทุนของคนวัยนี้ จะเน้นให้นำเงินออมส่วนใหญ่หรือประมาณ 70% ไปไว้ในที่ที่ปลอดภัย เพราะมีเวลาที่จะหารายได้เหลืออีกไม่กี่ปี เงินที่มีอยู่จึงควรรักษาไว้ใช้ตอนไม่มีรายได้แล้ว ไม่ควรนำไปลงทุนที่มีความเสี่ยงมากกว่านั้น และควรกันเงินส่วนที่เหลืออีก 30% มาลงทุนในหุ้นระยาว เพื่อเพิ่มพูนเงินออมให้มากขึ้น นอกเหนือจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับ
ปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการวางแผนเกษียณ

การที่คุณจะวางแผนและบริหารเงินออมเพื่อการเกษียณอายุของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพหรืออย่างน้อยก็ให้พอเพียงกับการดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข ควรคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้
1.ระยะเวลาแห่งช่วงชีวิต (Longevity)
เป็นส่วนที่แสดงให้เห็นว่าคุณจะต้องใช้เงินออมของคุณไปอีกกี่ปีหลังจากเกษียณ โดยในปัจจุบันช่วงชีวิตโดยเฉลี่ยของผู้ชายคือ 72 ปี และของผู้หญิงคือ 75 ปี ซึ่งเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น อาจทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาวกว่าค่าเฉลี่ยนั้น และเมื่อมีอายุยืนยาวขึ้น จำนวนเงินที่ต้องการใช้ยามเกษียณอายุก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

2.อัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าน่าจะเป็นไปในช่วงเวลาของการเกษียณอายุ (Inflation)
เงินเฟ้อเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม โดยจะเป็นสิ่งที่ทำให้เงินออมที่คุณหามาด้วยความยากลำบากในแต่ละปี ต้อง “ด้อยค่า” ลงไปอย่างช่วยไม่ได้ ยิ่งระดับอัตราเงินเฟ้อสูงมากขึ้นเท่าใด เงินออมของคุณก็ด้อยค่าลงมากเท่านั้น

3.วิถีชีวิต (Life Style)
โดยทั่วไปคุณจะต้องการเงินประมาณ 70% ของรายจ่ายก่อนเกษียณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ซึ่งจำนวนเงินนี้อาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับคุณภาพชีวิต ปัญหาสุขภาพ ภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่แต่ละคนวางแผนเอาไว้
4.สุขภาพ (Health)
หากเกิดปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าก่อนหรือหลังเกษียณ เงินออมเพื่อการเกษียณของคุณย่อมที่จะประสบปัญหาอย่างแน่นอน ซึ่งทางเดียวที่จะช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพได้ก็คือ “การออกกำลังกาย”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นทั้ง 4 หัวข้อที่กล่าวมาข้างต้น อาจถูกกำหนดได้ง่ายกว่าหากคุณอยู่ในช่วงใกล้จะปลดเกษียณ แต่การประมาณการไว้คร่าวๆ ก่อนปลดเกษียณซัก 20 - 30 ปี ก็เป็นสิ่งที่คุณน่าจะลองทำดู

เคล็ด(ไม่)ลับ...สู่การเกษียณอย่างมั่งคั่ง
การมีอิสรภาพทางการเงินในขณะที่ยังมีสุขภาพที่แข็งแรงนั้น นับเป็นชีวิตที่น่าปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากคุณจะมีความมั่นคงทางการเงินจนไม่จำเป็นต้องทำงานหาเงินเพื่อเลี้ยงชีพอีกต่อไป คุณยังมีเวลาทำในสิ่งที่รักหรือต้องการ ซึ่งนั่นก็ถือว่าเข้าข่าย “เกษียณ” ได้เช่นกัน แต่การเกษียณอายุก่อน 60 ปี และมีความมั่งคั่งทางการเงินนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย คุณต้องมีการวางแผนทางการเงินที่ดี ลองมาดูเคล็ดลับง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณมีความมั่งคั่งตอนเกษียณ

- เริ่มออมอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ตอนอายุน้อยๆ โดยในช่วงแรกๆ อาจจะออมเงินประมาณ 10% ของรายได้ แต่เมื่อหน้าที่การงานมีความมั่นคงมากขึ้น รายได้มากขึ้น ก็ควรจะเพิ่มสัดส่วนการออมให้มากขึ้น
- รู้จักเลือกลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ ฯลฯ โดยคำนึงถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้

- ฉลาดซื้อ รู้จักเลือกซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็น คุ้มค่า และคุ้มประโยชน์ใช้งาน
- ฉลาดใช้ รู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด รักษาสิ่งของต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่เหมาะกับการใช้งานได้นานๆ รวมถึงการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม สุขกาย สุขใจ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยอีกด้วย

วัย 30 สร้างรากฐานเพื่อความมั่นคง

คนส่วนใหญ่เริ่มที่จะก่อร่างสร้างครอบครัวในช่วงวัยนี้ เนื่องจากหน้าที่การงานมีความมั่นคงมากขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น แต่ภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ผู้ที่อยู่ในวัยนี้จึงน่าจะลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงมาเหลือ 50% เพราะเริ่มรับความเสี่ยงได้น้อยลง เนื่องจากเป็นวัยที่มีภาระผูกพัน มีครอบครัวที่ต้องดูแล สำหรับเงินอีก 50% ควรเก็บไว้ในหลักทรัพย์ที่เสี่ยงต่อเงินต้นหรือการรอเวลาน้อยลง อย่างเงินฝากธนาคารและตราสารหนี้


ตัวอย่างที่ยกมาเป็นเพียงแนวทางคร่าวๆ สำหรับการลงทุนให้เหมาะกับช่วงวัยของคุณเท่านั้น ซึ่งคุณสามารถที่จะปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับข้อจำกัดของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลตอบแทนที่คาดหวัง เพื่อให้มีพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวคุณเองมากที่สุด


ช่วงอายุสามสิบกว่าๆ เป็นช่วงที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูงกว่าในช่วงเริ่มต้นทำงานค่อนข้างมาก การใช้จ่ายในช่วงวัยนี้จึงควรมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ถ้าไม่ใช้ ก็ไม่ซื้อ รวมทั้งมีจัดทำงบดุลส่วนบุคคล และ งบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทราบถึงสถานะทางการเงินและพฤติกรรมการใช้จ่ายของคุณและครอบครัว

ทำไมเราควรฝึกจดทำบัญชี
คุณเคยสงสัยบ้างมั้ย... หลังจากเงินเดือนออกไปแค่ไม่กี่วัน แต่ทำไมเงินในบัญชีกลับหายเกลี้ยงไปซะเฉยๆ นึกเท่าไรก็นึกไม่ออกว่าเงินหายไปไหน สุดท้ายที่พอจะทำได้ก็คือ หยิบเครื่องคิดเลขออกมานั่งคำนวณว่าเงินที่เหลืออยู่จะพอใช้จนถึงสิ้นเดือนหรือไม่ แต่หากคุณทำบัญชีรายรับรายจ่ายอยู่เป็นประจำ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ลองมาดูประโยชน์ของการทำบัญชีรายรับรายจ่ายกัน

1.ทราบรายรับ – รายจ่ายที่แน่นอน
ทำให้คุณมีข้อมูลสำหรับการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงในอนาคต

2.ทราบพฤติกรรมการใช้จ่าย
ว่าคุณมีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยอย่างไร และฟุ่มเฟือยไปกับการซื้อสิ่งของต่างๆ ที่ไม่จำเป็นและไม่เคยใช้หรือไม่

3.ทราบสถานะของตัวเองและครอบครัว
ในปัจจุบันตลอดจนสามารถนำมาคาดการณ์การใช้จ่ายในอนาคตให้เหมาะสมได้
ป้องกันการผิดพลาดในการใช้จ่ายการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะทำให้คุณมีความรอบคอบและรัดกุมในการใช้จ่ายเงินมากขึ้น ความผิดพลาดในการใช้จ่ายก็จะลดลง

4.ช่วยในการวางแผนการใช้จ่ายและจัดสรรเงินออมให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
คุณอาจวางแผนแบ่งรายได้ออกเป็นส่วนๆ เช่น 20% เป็นเงินออม 50% เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นทั่วไป จำพวกอาหาร ที่อยู่ เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และอีก 30% ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ค่าใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และการประกันชีวิต


สรุปง่ายๆ ได้ว่า “การทำบัญชีรายรับรายจ่าย” เป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนทางความคิดให้เกิดการลด ละ เลิกใช้จ่ายสิ่งฟุ่มเฟือยต่างๆ รู้จักการเก็บออม รู้คุณค่าของการใช้เงิน รู้ฐานะการเงินของครอบครัวว่าแต่ละเดือนมีรายรับรายจ่ายเท่าไร ก่อให้เกิดเงินออม และทำให้ครอบครัวมีความสุข


ในการนำเงินออมไปลงทุนในทางเลือกต่างๆ นั้น ล้วนแต่มีผลประโยชน์ทางภาษีที่รัฐมอบให้ เนื่องจากรัฐมีนโยบายจะส่งเสริมการออม รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจบางประเภทในช่วงเวลาหนึ่งๆ ดังนั้น หากคุณเข้าใจรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ และสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐมอบให้อย่างคุ้มค่า จะช่วยให้คุณสามารถประหยัดภาษีในแต่ละปีลงได้ โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับการออมและการลงทุนมีดังนี้


1.การซื้อประกันชีวิตถ้าคุณทำประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป คุณสามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 50,000 บาท

2.การซื้อ / เช่าซื้อ / สร้างที่อยู่อาศัยถ้าคุณต้องชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ธนาคาร โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นหลักประกันการกู้ยืมนั้น คุณสามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

3.การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-term Equity Fund : LTF)คุณสามารถนำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวมาหักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

4.การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)คุณสามารถนำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพมาหักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมเข้ากับเงินสะสมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ฯลฯ


นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีรายได้บางประเภทที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้อีกด้วย ซึ่งคุณควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม รวมไปถึงการติดตามกฎระเบียบหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คุณสามารถวางแผนภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลตอบแทนจากการออมและการลงทุนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย


ที่มา : http://edu.tsi-thailand.org/

วัย 20 เริ่มต้นฝันให้เป็นจริง

ถือได้ว่าเป็นวัยที่ได้เปรียบในการลงทุนมากที่สุด เนื่องจากยังไม่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากนัก และยังมีโอกาสหารายได้อีกนาน จึงทำให้สามารถรับความเสี่ยง ได้มาก คนวัยนี้สามารถนำเงินออม 90% ไปลงทุนในหุ้นได้ แต่ไม่ใช่การลงทุนแบบเก็งกำไร ควรเป็นการลงทุนระยะยาว

โดยเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี แล้วซื้อทิ้งไว้หรือซื้อเพิ่มเรื่อยๆ จะมีโอกาสได้กำไรสูงมาก เพราะเวลาจะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องราคาหุ้นที่ขึ้นๆ ลงๆ ได้ ส่วนเงินออมที่เหลืออีก 10% ควรเก็บไว้ในรูปเงินฝากธนาคาร และตราสารหนี้ต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ที่มีความปลอดภัยของเงินต้นสูง และได้อัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน

ตัวอย่างที่ยกมาเป็นเพียงแนวทางคร่าวๆ สำหรับการลงทุนให้เหมาะกับช่วงวัยของคุณเท่านั้น ซึ่งคุณสามารถที่จะปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับข้อจำกัดของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลตอบแทนที่คาดหวัง เพื่อให้มีพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวคุณเองมากที่สุด


เคล็ดไม่ลับ...กับการออม
ในวัยหนุ่มสาวมักไม่ค่อยนึกถึงการวางแผนการเงินสำหรับอนาคตเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมเงินออมไว้สำหรับตอนเกษียณอายุ เพราะอาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัวมาก หนุ่มสาวส่วนใหญ่จึงมักจะบริหารจัดการเฉพาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในปัจจุบัน โดยหารู้ไม่ว่า... ยิ่งเริ่มออมช้าเท่าใด ยิ่งทำให้ยอดเงินออมในอนาคตลดลงมากขึ้นเท่านั้น เอาล่ะ... ลองมาดูเคล็ด (ไม่) ลับ เกี่ยวกับการออมกัน


1.กำหนดเป้าหมายในการออม
ก่อนที่จะออมคุณควรกำหนดเป้าหมายว่าออมเงินเท่าใดถึงจะพอดี และเพียงพอที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างสบายๆ ในช่วงหลังเกษียณ เพราะถ้าออมมากเกินไป ก็อาจจะเป็นการเบียดเบียนตนเอง ทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างกระเบียดกระเสียรในปัจจุบัน แต่ถ้าออมน้อยเกินไป เมื่อถึงเวลาที่ต้องการใช้เงิน ก็อาจจะมีเงินไม่พอใช้


2.เริ่มออมอย่างสม่ำเสมอ
ในจำนวนเงินที่ไม่เกินความสามารถของตนเอง โดยในช่วงแรกๆ ที่มีรายได้ไม่มากนัก คุณอาจจะออมเงินประมาณ 10% ของรายได้ แต่เมื่อหน้าที่การงานมีความมั่นคงมากขึ้น รายได้มากขึ้น ก็อาจจะเพิ่มสัดส่วนการออมให้มากขึ้น


3.แบ่งเงินไปลงทุน
เงินเฟ้อเป็นตัวบั่นทอนให้เงินออมของคุณด้อยค่าลง กล่าวคือ หากวันนี้คุณมีค่าครองชีพเดือนละ 10,000 บาท หรือปีละ 120,000 บาท ในอีก 20 ปีข้างหน้า หากเงินเฟ้อปีละ 5% ค่าครองชีพของคุณจะเพิ่มเป็นเดือนละ 26,500 บาท หรือปีละ 318,000 บาทเลยทีเดียว ดังนั้น เพื่อให้ได้เป้าหมายเงินออมตามที่ต้องการ คุณอาจต้องแบ่งเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ

กลยุทธ์ออมเงินแบบลบ 10 บวก 10
เมื่อคุณมีเป้าหมายในชีวิตและเป้าหมายในการออมเงินแล้ว คุณอาจสงสัยว่า... จะออมเงินอย่างไร ให้มีเงินออมตามเป้าหมายที่วางไว้ ในเรื่องนี้มีคำตอบง่ายๆ แต่มีประสิทธิภาพในการออมสูงมากอีกวิธีหนึ่งก็คือ “กลยุทธ์ออมเงินแบบลบ 10 บวก 10”

กลยุทธ์ออมเงินแบบลบ 10
เมื่อหาเงินมาได้เท่าไรให้หักไว้เป็นเงินออมก่อนที่จะเอาไปใช้จ่ายทันที 10% เช่น หากคุณมีเงินเดือน 10,000 บาท ก็หักไว้เป็นเงินออมก่อนเลย 1,000 บาท การออมเงินลักษณะนี้เหมาะกับคนที่มีวินัยทางการเงินค่อนข้างดี

กลยุทธ์ออมเงินแบบบวก 10
ใช้เงินไปเท่าไรต้องเก็บเงินเพิ่มให้ได้ 10% ของเงินที่ใช้ไป เช่น ซื้อของไป 2,000 บาท ก็ต้องออมเงินเพิ่มขึ้นอีก 200 บาทไปพร้อมๆ กัน วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่มีนิสัยชอบจับจ่ายใช้สอย เพราะจะช่วยเตือนความจำให้เก็บเงินทุกครั้งที่ใช้จ่าย

อย่าลืมว่า... เมื่อคุณคิดที่จะออมแล้ว คุณจะต้องลงมือเก็บออมโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง และต้องวางแผนการใช้จ่ายเงินอย่างสม่ำเสมอ โดยการจดบันทึกหรือทำบัญชีายรับรายจ่ายเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง

พลังแห่งดอกเบี้ย เพียงวันละ 20 บาท ก็มีเงินแสนได้
รู้หรือไม่... ว่าคุณสามารถมีเงินหนึ่งแสนบาทได้ ด้วยการออมเพียงวันละ 20 บาท หากคุณนำฝากธนาคารทุกวันอย่างสม่ำเสมอ โดยได้รับดอกเบี้ย 2% ต่อปี จะทำให้คุณมีเงินถึง 128,776 บาท ในระยะเวลาเพียง 15 ปี

สำหรับนักออมมือใหม่หรือนักออมมืออาชีพอย่างคุณ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ วินัยในการออมของนักออม เมื่อทราบเช่นนั้นแล้ว ก็ควรเร่งทำการออม เพื่อจะได้เป็นเศรษฐีในอนาคต

ที่มา : http://edu.tsi-thailand.org/

วิธีสมัครเล่นหุ้น

"การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดใช้วิจารณญาณก่อนตัดสินใจ" คำนี้นักลงทุนเกือบทุกคนคงเข้าใจดี และยอมรับมันแล้ว ซึ่งหุ้นก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีผลตอบแทนน่าสนใจ และมีความเสี่ยงอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว


นักลงทุนมือใหม่ที่กำลังกระโดดเข้ามาในตลาดหุ้นก็มีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเรามาดูวิธีการสมัครเล่นหุ้นเป็นขั้นตอนกันดีกว่า

1.แรกสุดเราต้องมีเงินก้อน อย่างต่ำสุดประมาณ 1หมื่นบาทก็เล่นได้แล้ว และในเงิน 1หมื่นนี้ ต้องทำใจเผื่อว่า อาจจะหมดตัวได้ค่ะ

2.วิธีการเปิด account ลองสอบถามจาก broker หลายๆ broke มีทั้งหมดประมาณ 40 แห่ง เช่น เอเชียพลัส(APS) ,บัวหลวง (BLS) ,ทิสโก้ (TSC) กิมเอ็ง (KEMENG) เป็นต้น เขาจะแนะนำได้ ปัจจุบัน broker จะต้องให้เราส่งเอกสารเกี่ยวกับการเงินให้พิจารณาการเปิดบัญชีด้วย

บัญชีชื้อขายหุ้น แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทให้คุณเลือกตามความต้องการใช้เงินในการเล่นหุ้นของคุณ คือ

1. ประเภทบัญชีเงินฝาก(Cash Balance) การซื้อขายหุ้นตามจำนวนเงินฝาก โดยไม่กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำในการซื้อขายเเต่อย่างใด ค่าธรรมเนียมคอมมิชชั่น เท่ากับร้อยละ 0.15(0.15%) กรณีซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งวัน ต่ำกว่าจำนวน 30,000 บาท ค่าธรรมเนียม จะเท่ากับ 45 บาท(ทั้งนี้แล้วแต่โบรกเกอร์)

2.ประเภทบัญชีเครดิต(Cash Account)การซื้อขายหลักทรัพย์ตามวงเงินที่อนุมัติ การชำระราคาเป็นลักษณะ T+3 โดยกำหนดหลักทรัพย์ค้ำประกันขั้นต่ำเท่ากับ ร้อยละ 15(15%)ค่าธรรมเนียมคอมมิชชั่น เท่ากับร้อยละ 0.20(0.20%)กรณีซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งวัน ต่ำกว่าจำนวน 22,500 บาท ค่าธรรมเนียมคอมมิชชั่น จะเท่ากับ 45 บาท(ทั้งนี้แล้วแต่โบรกเกอร์)http://www.settrade.com/brokerpage/IPO/StaticPage/OpenAccount/compare_member.html

ขั้นตอนการเปิดบัญชี

1. สำหรับประกอบการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านอินเตอร์เน็ต

1.1.เตรียมสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง

1.2. เตรียม statement บัญชีเงินฝากเจ้าของบัญชี

1.3.เซ็นสัญญาเอกสารการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อเปิดบัญชีหลักทรัพย์

2.รอผลการพิจารณาจากโบรกเกอร์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
โบรกเกอร์แต่ละแห่งก็จะมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการรับลูกค้าแตกต่างกัน คุณคงจะต้องสอบถามรายละเอียดและต่อรองกับบริษัทเองด้วย แต่โดยทั่วไป ก็จะมีมาตรฐานที่คล้ายคลึงกัน คือ พิจารณาฐานะการเงินและความสามารถในการชำระหนี้จากความน่าเชื่อถือของคุณ พิจารณาหลักฐานต่างๆ ที่แสดงถึงทรัพย์สิน รายได้หรือตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกค้า และหลักฐานการค้ำประกัน เพื่อกำหนดวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ที่เหมาะสมสำหรับลูกค้า นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาความเหมาะสมด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเป้าหมายการลงทุน ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ และระดับการยอมรับความเสี่ยง รวมถึงข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา ภาระหนี้สิน เป็นต้น เพื่อกำหนดประเภทบัญชีและวิธีการให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย

3. เมื่อได้รับการอนุมัติให้เปิดบัญชีแล้ว คุณจะได้รับแจ้งเลขที่บัญชี หรือรหัสประจำตัวลูกค้าซึ่งจะใช้ในการส่งคำสั่งซื้อขาย เปลี่ยนแปลง ยกเลิก รวมทั้งการชำระเงิน หรือในการติดต่อใด ๆ กับโบรกเกอร์ รหัสนี้คุณต้องเก็บเป็นความลับ เพราะมิฉะนั้นแล้วอาจมีผู้แอบอ้างทำให้เกิดความเสียหายได้

4.ลงโปรแกรมการซื้อขายหุ้นผ่านอินเตอร์เนต ซื่งแต่ละบ.โบรกเกอร์ก็แตกต่างกัน ลองสอบถามจากโบรกเกอร์นั้น ๆ

เท่านี้เราก็สามารถซื้อขายหุ้นผ่านเน็ตได้แล้ว เดี๋ยวหัวข้อต่อไปจะสอนวิธีการซื้อ-ขายหุ้นกันค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก settrade.com

วิถีมหาเศรษฐี




W.Randall Jones เขียนหนังสือชื่อ "The Richest Man in Town "
โดยการสัมภาษณ์และวิเคราะห์คุณสมบัติ นิสัย แนวความคิด ปรัชญาการใช้ชีวิต และอื่นๆ ของคนที่รวยที่สุดในเมืองต่างๆของอเมริกาจำนวน 100 คน เขาพบลักษณะร่วมของคนที่เป็นมหาเศรษฐี
12 ประการ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

1.ไม่หาเงินเพื่อเงิน
การทำอย่างนั้น คุณจะไม่ได้เงิน
เงินจะมาก็ต่อเมื่อคุณทำในสิ่งที่ถูกต้อง และด้วยวิธีที่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่คุณรัก และมีความหลงใหลที่จะทำ คุณต้องทำในสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ แล้วเงินจะมาเอง มันเป็นผลพลอยได้ ในมุมของ VI หรือนักลงทุนเน้นคุณค่า ผมคิดว่ามันถูกต้องตรงกัน อย่าลงทุนแบบจ้องหา หรือหมกมุ่นกับผลตอบแทนเกินไป มีความสุขกับการลงทุนทำหรือเลือกลงทุนอย่างถูกต้อง เงินจะมาเอง

2.รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร
รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง ที่สำคัญต้องรู้ว่าอะไรคือความสามารถ หรือความเชี่ยวชาญที่สุดของตัวเอง ถ้าคุณคิดว่าต้องไปทำงานทุกวัน นั่นก็ผิดแล้วงานจะไม่ใช่งานถ้าคุณทำแล้วมีความสุข และเป็นสิ่งที่คุณอยากทำ

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยบอกกับซูซี่ อดีตภรรยาที่ล่วงลับไป ในตอนที่แต่งงานกันใหม่ๆ ว่า เขาจะต้องรวย เหตุผลไม่ใช่เพราะเขาทำงานหนัก หรือมีความเก่งเป็นพิเศษ แต่เป็นเพราะเขาเกิดมาด้วยทักษะที่ถูกต้อง ในสถานที่ที่ถูกต้อง และในเวลาที่ถูกต้อง นั่นคือ ทักษะในการจัดสรรเงินทุน หรือก็คือ การลงทุนนั่นเอง

3.เป็นนายของตัวเอง
คุณไม่สามารถรวยได้โดยการทำงานให้คนอื่น เรื่องนี้ผมคงไม่ต้องอธิบายกับ Value Investor เพราะนักลงทุนนั้นทุกคนเป็นนายของตัวเอง

4.เสพติดความทะเยอทะยาน
คนเราทุกคนต่างก็เสพติดอะไรบางอย่าง หรือหลายอย่างในชีวิต เราติดกาแฟ ติด Internet ติดเหล้า ติดเซ็กส์ ติดอำนาจ เราต้องคิดว่าติดอะไรแล้วจะเป็นประโยชน์ มหาเศรษฐีบอกว่า "ไม่มีความมั่งคั่งถ้าไม่มีความทะเยอทะยาน" ทำอะไรสำเร็จแล้ว ก็ต้องพยายามทำให้สูงขึ้นเรื่อยๆ

ความทะเยอทะยานนั้น มีด้านมืด มันอาจทำให้เรามีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป และเป็นอันตราย ความทะเยอทะยานนั้น ควรจะมีวัตถุประสงค์ชัดเจน และเราต้องไม่ปล่อยให้มันอยู่เหนือการควบคุมของเรา

5.ตื่นเช้า มาถึงก่อน เริ่มตั้งแต่อายุน้อย
ในเรื่องของการทำงานทั่วไป และในฐานะของผู้บริหารหรือผู้ประกอบการนั้น ผมคิดว่าต้องทำทั้งสามเรื่อง แต่เรื่องการลงทุนนั้น ผมคิดว่า การเริ่มตั้งแต่อายุน้อย
เป็นสิ่งที่จะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงและเป็นเศรษฐี ได้ง่ายที่สุด

แนวทางข้อนี้ค่อนข้างจะต้องสัมพันธ์กับข้อสอง นั่นคือ ถ้าคุณสามารถค้นพบตัวเองว่าเก่งทางไหนตั้งแต่อายุน้อย ความสำเร็จก็ไม่หนีไปไหน

6.อย่าตั้งเป้าหมาย
ลงมือทำให้สำเร็จทีละน้อย เดินหน้าไปทุกวัน เป้าหมายหรือแผนธุรกิจ พอเขียนเสร็จก็ล้าสมัยแล้ว มหาเศรษฐีบางคนไม่มี Business Plan และไม่ตั้งแม้แต่เป้ายอดขายด้วยซ้ำ

ข้อนี้ฟังดูเหลือเชื่อ ผมคิดว่าเป้าหมายคงอยู่ในใจและเป็นเป้ากว้างๆ ที่จะช่วยบอกทิศทาง พวกเขาเน้นที่การปฏิบัติว่าต้องได้ผลมากกว่าการตั้งเป้าแต่ปฏิบัติไม่สำเร็จ

นักลงทุนเองก็ควรคิดว่า Execution หรือการปฏิบัตินั้น สำคัญกว่าเป้าหมายมาก ถ้าเราลงทุนแล้วพอร์ตเราโตขึ้นเรื่อยๆนี่แหละความสำเร็จ

7.อย่ากลัวความล้มเหลว
ทางเดียวที่จะประสบความสำเร็จก็คือ กล้าที่จะล้มเหลว และล้มเหลวต่อหน้าสาธารณชนด้วย ทุกคนจะต้องเคยล้มเหลวมาบ้าง ไม่มีใครประสบความสำเร็จตลอด
โดยที่ไม่มีความล้มเหลวมาคั่น

ถ้าเรากลัวความล้มเหลว เราจะไม่กล้าทำอะไร ว่าที่จริงไม่มีคำว่าล้มเหลว ยกเว้นว่าคุณจะเลิก การลงทุนก็เช่นเดียวกัน ไม่มีทางที่คุณจะประสบความสำเร็จตลอด อย่าเลิกเมื่อขาดทุนหนัก สู้ต่อไป วันหนึ่งเราจะชนะ

8.ทำเลไม่สำคัญ
ทำเลที่ว่านี้ คือ สถานที่ที่คุณอยู่ หรือที่ที่คุณทำงาน ไม่ว่าคุณจะอยู่เมืองไหน คุณสามารถประสบความสำเร็จได้ ไม่ต้องย้ายไปอยู่เมืองใหญ่ หรือเมืองธุรกิจหลัก
โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เรามีเครือข่ายการสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพ

ว่าที่จริง บัฟเฟตต์ อยู่ที่เมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา ซึ่งเป็นเมืองทางการเกษตรมา ตั้งแต่เริ่มธุรกิจลงทุนเมื่อ 50 ปีก่อน ที่การสื่อสารยังไม่ดีนัก แทนที่จะอยู่ที่นิวยอร์ก หรือบอสตัน ที่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน และการลงทุน ผมเองคิดว่า นักลงทุนไม่จำเป็นต้องอยู่ที่กรุงเทพฯ ถึงจะประสบความสำเร็จในการลงทุน ว่าที่จริง
ยิ่งห่างอาจจะยิ่งดี

9.ยึดมั่นในจรรยาบรรณทางธุรกิจ
นี่เป็นกฎเหล็กที่สำคัญที่สุด
วอร์เรน บัฟเฟตต์ พูดว่า "ชื่อเสียงใช้เวลา 20 ปีในการสร้าง แต่ใช้เวลาแค่ 5 นาทีในการทำลาย ดังนั้นคุณต้องสำนึกไว้ตลอดเวลา"

10.เน้นที่การขาย
ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนกว่าบางสิ่งบางอย่างจะถูกขายออกไป นักลงทุนไม่ได้ขายอะไร แต่ต้องรู้ว่า บริษัทที่เราลงทุนนั้นขายอะไร การขายเป็นหัวใจของความสำเร็จ
ของบริษัท และเป็นความสำเร็จของราคาหุ้น ในความรู้สึกของผม
ผมคิดว่า VI จำนวนมากชอบดูกำไร ซึ่งเป็นบรรทัดสุดท้าย แต่ไม่ค่อยดูยอดขายที่เป็นบรรทัดแรกในงบการเงิน

11.ขอยืมไอเดียจากคนที่ เก่งที่สุดและคนที่แย่ที่สุด
การอ่านประวัติและวิธีคิดของคนที่ยอดเยี่ยมที่สุด อย่างการลงทุน ของบัฟเฟตต์ ผมคิดว่าไม่มีอะไรมาทดแทนได้

12.ไม่มีวันเกษียณ
การเกษียณจะทำให้ชีวิตคุณล้มเหลว
การเกษียณเป็นอันตรายต่อสุขภาพ การเกษียณเป็นอันตรายต่อความสนุกในชีวิต อันตรายต่อความมั่งคั่งส่วนตัว
นักลงทุนไม่มีวันเกษียณ บัฟเฟตต์ และมังเจอร์ อายุเกือบ 80 ปีแล้ว ยังทำงานทุกวัน แม้แต่ปีเตอร์ ลินช์ หรือ จอห์น เนฟฟ์ ที่เกษียณจากการบริหารกองทุนรวม แต่พวกเขาก็ยังบริหารกองทุนส่วนตัวอยู่
ที่มา : fwd

ออมเงินกับประกันชีวิตคุ้มมั้ย?

ตอนนี้เจ้าหน้าที่ขายประกันเร่งทำยอด โทรเข้ามาถี่กว่าเพื่อนๆ ของเราเสียอีก หนำช้ำพวกเขายังพูดถึงข้อดีเกี่ยวกับการทำประกันมากมาย ซึ่งเราอาจจะสงสัยว่ามันดีจริงๆ หรือพูดเพราะต้องการให้เราซื้อกันแน่นะ


รู้จักประกับชีวิต

ประกันชีวิตเป็นบริการอย่างหนึ่งที่ให้หลักประกันเป็นเงินลงทุนและบริการดูแลสุขภาพควบคู่กัน ซึ่งมีมากมายหลายแพ็กเกจที่บริษัทประกันจะจัดโปรโมชั่นเพื่อให้เหมาะสมกับลูกค้า โดยปกติแล้วมักจะจัดประกันชีวิตให้รวมกับการประกันสุขภาพไปด้วย ซึ่งประกันชีวิตคุณจะได้เงินปันผลหรือได้เงินคืนเมื่อกรมธรรม์สิ้นสุดลง แต่ประกันสุขภาพก็เหมือนกับเงินกินเปล่าทุกๆ ปี แต่จะปลอดภัยและคุ้มค่าเมื่อคุณไม่สบาย ประกันชีวิตจึงถือเป็นการออมเงินรูปแบบหนึ่งที่มีของแถมเป็นการคุ้มครองจากบริษัทประกัน ดังนั้น ความคุ้มค่าจึงอยู่ที่ความต้องการของคุณเองว่าต้องการเงินคืนในรูปแบบใด ภายในปีไหน เช่น ออมสำหรับเกษียณอายุ ออมสำหรับการศึกษาของลูก เป็นต้น

ประกันค่าใช้จ่าย...ต่อเนื่อง

การคิดทำประกันนั้นเป็นรายจ่ายต่อเนื่องที่อาจจะทำให้คุณหมุนเงินไม่ทันได้ แม้ว่าจะสามารถแบ่งจ่าย 3 เดือน 6 เดือน แต่ก็ยังถือว่าเป็นรายจ่ายประจำที่คุณจะต้องหามาให้ทัน ซึ่งถ้าคุณวางแผนไม่ดีแล้วขาดส่งไป 1-2 งวด ประกันอาจจะงดการคุ้มครอง รวมทั้งอาจจะริบเงินต้นส่วนที่คุณได้ส่งมาหรือได้คืนแบบไม่เต็มจำนวน ดังนั้น ก่อนที่จะเลือกทำประกันชีวิต ต้องดูศักยภาพตัวเองด้วยว่าสามารถทำได้แค่ไหน อย่าเพิ่งเห็นแก่ค่าตอบแทนอีก 20 ปีข้างหน้า ถ้าคุณไม่อาจส่งเงินได้อย่างสบายๆ เพราะถ้ายกเลิกก่อนหน้านั้นคุณอาจจะไม่ได้อะไรเลย แถมขาดทุนด้วย

ค่าตอบแทน...จากประกันชีวิต

หากคุณจ่ายประกันชีวิตปีละ 50,000 บาท รวมแล้ว 10 ปี อย่างต่ำสุดคือคุณจะได้เงินทั้งหมด 500,000 บาทคืน ซึ่งคุณควรดูที่ระยะเวลาและผลตอบแทนการออมครั้งนี้ให้ดี เพราะบางบริษัทจะให้คุณส่งเป็นเวลา 10 ปี เมื่อครบกำหนดส่งแล้วก็จะยืดเวลาการชำระเงินออกไปเป็นปีที่ 15 ข้อเสียคือ คุณจะต้องรอเงินนานขึ้น แต่ค่าตอบแทนก็อาจจะมากขึ้นด้วย ขึ้นอยู่กับความพอใจของคุณว่ามันจะคุ้มค่ากับการรอหรือไม่ ส่วนมากค่าตอบแทนของบริษัทประกันจะเป็นการประมาณการ เนื่องจากเขาต้องนำเงินของคุณไปลงทุนเช่นกัน ดังนั้น คุณควรถามการการันตีที่แน่นอน พร้อมอ่านสัญญาให้ละเอียดที่สุด เพราะตัวแทนประกัน (บางคน) อาจจะให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนและเป็นผลเสียต่อคุณได้ เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายระยะยาวที่หนักเอาการเหมือนกัน

ข้อดีของการออมแบบประกัน

มีหญิงสาวจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะทำประกัน เนื่องจากเป็นการบังคับตัวเองไปในตัวว่าจะต้องเก็บออมเงิน และมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้น ทองคำ หรือกองทุนบางประเภท แถมยังได้ความคุ้มครองอื่นๆ เป็นของแถมด้วย เรียกว่าเป็นการซื้อความมั่นคงในชีวิตและคนที่อยู่ภายหลัง หากวันใดวันหนึ่งเราจากโลกนี้ไปก่อน พวกเขาจะอยู่ได้ไม่ลำบาก ส่วนที่ว่าจะคุ้มหรือไม่คุ้มต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณ และไม่เสียรู้ต่อสัญญาต่างๆ ของประกัน เพียงเท่านี้ก็จะคุ้มค่าพอกับการออมแบบอื่นๆ แต่มีบริการเป็นของแถมด้วย

ขอบคุณข้อมูล : mcot.net

ทริกง่ายๆ...ช่วยคุณจัดพอร์ตยามยาก

ดอกเบี้ยลด หุ้นตก ทองผันผวน ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 52 ที่ผ่านมา โดยดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับลดตัวลงแรงในช่วง 1-2 เดือนแรกของปีนี้ ก่อนที่จะกลับดีดตัวขึ้นในระยะเวลาหลังจากนั้น

ขณะที่ราคาทองคำในตลาดโลกนั้น แม้ว่าจะดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 1,000 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ แต่ก็ร่วงลงในช่วงอีกประมาณสองเดือนต่อมา ก่อนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง นับจากช่วงกลางเดือนเมษายนถึงต้นเดือนมิถุนายน แต่ก็กลับปรับฐานในช่วงหลังจากนั้น ทำให้ในภาพรวมแล้ว ราคาทองคำมีการปรับทิศทางถึง 4 ครั้งด้วยกันภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ ก็ขยับลดลงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าว ทำให้ผู้มีเงินออมอยู่ในฐานะที่ยากลำบาก เพราะนอกจากจะได้รับผลตอบแทนที่ลดน้อยถอยลงแล้ว การลงทุนในหลายตลาดยังทำให้ขาดทุนเงินต้นด้วย โดยเฉพาะเมื่อตัดสินใจลงทุน หรือขายทำกำไรผิดจังหวะ ท่ามกลางความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา หรืออัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในช่องทางลงทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 52 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า...การออมเงินในช่องทางหลักยังคงเผชิญกับความเสี่ยงหลากหลายด้าน แต่ท่ามกลางความเสี่ยงดังกล่าว ก็ยังน่าจะมีโอกาสสำหรับการออมเงินในบางช่องทาง ซึ่งยังเสนออัตราผลตอบแทนที่ดึงดูดใจ สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์

โดยตัวแปรสำคัญที่อาจมีอิทธิพลต่อการจัดสรรเงินออมในช่วงครึ่งหลังของปี 52 และต่อเนื่องไปถึงปี 53 นั้น ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ของหลายตัวแปรด้วยกัน ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อทิศทางการลงทุนในตลาดหลัก โดยตัวแปรต่างๆ เหล่านั้นที่สำคัญ ได้แก่

การฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลก ...ที่ผ่านมาสัญญาณบวกจากเครื่องชี้เศรษฐกิจ จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและคาดหวังมากขึ้นว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในลักษณะ V-Shape ส่งผลให้นักลงทุนกล้าแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ประเด็นที่ควรระมัดระวังคือ การฟื้นตัวดังกล่าว ยังคงมีความเปราะบาง เพราะหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจยังไม่ถึงจุดต่ำสุด อาทิ ปัญหาการว่างงานในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

ส่วนทิศทางอัตราเงินเฟ้อ ...จากการที่เศรษฐกิจบางประเทศในโลก อาทิ จีน และอินเดีย ยังคงขยายตัวได้ดี ประกอบกับเศรษฐกิจอีกหลายประเทศค่อยๆ มีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ เริ่มปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับทิศทางราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจโลกไม่ได้ปรากฏสัญญาณเชิงลบในลักษณะเกินความคาดหมายมากนัก การเพิ่มขึ้นของแรงกดดันเงินเฟ้อก็อาจดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงปี 53 ซึ่งมุมมองในลักษณะดังกล่าวนี้เอง น่าจะมีน้ำหนักที่ส่งผลให้การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของ ธปท.มีโอกาสยุติลงในปีหน้า

การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลไทย ...เนื่องจากรัฐบาลวางแผนการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องไปถึงปีงบประมาณ 53 เป็นอย่างน้อย ประกอบกับที่ผ่านมา รายได้จัดเก็บของภาครัฐก็ลดต่ำลงกว่าที่คาดมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยแหล่งเงินลงทุน โดยเฉพาะจากในประเทศ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณดังกล่าว อีกทั้งสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อันนำมาสู่ปริมาณอุปทานพันธบัตรของภาครัฐที่กำลังจะทยอยเข้าสู่ตลาดอีกเป็นจำนวนมาก

จากประเด็นสำคัญต่างๆ ดังกล่าว ทำให้การลงทุนในหลายตลาดและช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนใน หุ้น ทองคำ น้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ อาจยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ราคาของการลงทุนประเภทต่างๆ ดังกล่าว ก็ได้ปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างมากแล้ว และอาจทำให้โอกาสการทำกำไรระยะสั้นอยู่ในขอบเขตที่จำกัด โดยเฉพาะหากปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจยังคงมีอยู่

การจัดสรรเงินออมที่เหมาะสม ...ทางออกที่น่าสนใจในภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน สำหรับผลิตภัณฑ์การออมที่มีการนำเสนอ หรือเตรียมนำเสนอสู่ตลาดในระยะนี้ที่น่าสนใจ ได้แก่

1.พันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล ได้แก่ พันธบัตรออมทรัพย์ “ไทยเข้มแข็ง” ในปีงบประมาณ 52 มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 5 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่าง 13-21 กรกฎาคม 52 และระยะเวลาการออม 5 ปี ให้อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได คือ ร้อยละ 3 ในช่วง 1-2 ปีแรก, ร้อยละ 4 ในปีที่ 3 และร้อยละ 5 ในปีที่ 4-5 ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินประจำค่อนข้างมาก โดยพันธบัตรออมทรัพย์ดังกล่าว เหมาะสมกับผู้มีเงินออมที่ไม่ชอบความเสี่ยง มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับรองรับการลงทุนระยะยาว ขณะที่พึงพอใจกับระดับอัตราผลตอบแทนที่นำเสนอ ณ ขณะนี้

2.หุ้นกู้ภาคเอกชน เนื่องจากเป็นที่คาดหมายว่าอัตราดอกเบี้ยในระบบ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับต่ำสุดแล้วในปัจจุบัน ดังนั้น จึงทำให้ภาคธุรกิจเอกชนเตรียมทยอยออกหุ้นกู้อีกจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาทภายในช่วงครึ่งหลังของปี 52 เพื่อล็อคต้นทุนในระดับต่ำเอาไว้ ซึ่งหุ้นกู้ส่วนใหญ่ดังกล่าวน่าจะเป็นประเภทอายุปานกลางถึงยาว ขณะที่ อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่นำเสนอ ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างจูงใจ

3.ผลิตภัณฑ์เงินฝากโครงการพิเศษของธนาคารพาณิชย์ นับจากช่วงกลางเดือนมิถุนายน 52 เป็นต้นมา ธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งได้เริ่มทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากโครงการพิเศษที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำปกติ ออกสู่ตลาด โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีระยะเวลาการออมที่สั้นกว่าพันธบัตรออมทรัพย์“ไทยเข้มแข็ง” และหุ้นกู้ภาคเอกชน แต่ก็มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเช่นกัน

4.กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) อาทิ พันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล หรือสถาบันการเงินในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งทยอยนำเสนอขายสู่ตลาดหนาตาขึ้นในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศนี้ คงต้องติดตามความเสี่ยงของประเทศผู้ออกตราสารและประเภทของตราสาร ตลอดจนแนวทางการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของผู้จัดการกองทุน อันอาจมีผลต่อภาพรวมความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนของกองทุนในอนาคต

5.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) ซึ่งคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ผ่านเงินปันผลที่น่าจะขยับสูงขึ้นตามทิศทางค่าเช่าและอัตราการเช่า อย่างไรก็ตาม การออมเงินผ่านการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ข้อจำกัดด้านสภาพคล่อง และจำนวนอุปทานใหม่ ได้แก่ การออกกองทุนใหม่ หรือการออกหน่วยลงทุนเพิ่มเติม หลังจากการเพิ่มทุนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์เดิม ซึ่งคาดว่าการเพิ่มจำนวนอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดดังกล่าว อาจยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทำให้ผู้มีเงินออมที่สนใจช่องทางนี้ อาจต้องรอจังหวะการออกขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมโดย บลจ.

6.ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ซึ่งถือเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการลงทุนในระยะที่ค่อนข้างยาว โดยในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ประกันส่วนใหญ่เสนออัตราผลตอบแทนขั้นต่ำประมาณร้อยละ 2-4 ต่อปีขณะเดียวกัน ก็ยังมีสิทธิประโยชน์จากการนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 1 แสนบาทสำหรับกรมธรรม์หลักอีกด้วย

7.หุ้น เป็นทางเลือกในการออมที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงได้ โดยการลงทุนในหุ้นนั้น หากมีจุดประสงค์เพื่อคาดหวังผลตอบแทนในรูปเงินปันผลจากบริษัทจดทะเบียน ก็คงจะต้องเน้นไปที่หุ้นที่มีพื้นฐานดี ผลประกอบการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอ โดยการลงทุนในลักษณะนี้ คงจะต้องเป็นการลงทุนในระยะที่ค่อนข้างยาว

ขณะที่ หากผู้มีเงินออมมีจุดประสงค์ของการลงทุนในหุ้น เพื่อคาดหวังด้านกำไรส่วนทุนจากการขายหลักทรัพย์ ก็คงจะต้องอาศัยการซื้อและขายทำกำไรในช่วงสั้นๆ โดยมีหลักการเบื้องต้น คือ เข้าซื้อเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลง และขายทำกำไรเมื่อราคาหุ้นดีดตัวสูงขึ้น

8.กองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ เพราะลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น อาทิ ตั๋วเงินคลัง ที่ออกโดยรัฐบาล

ด้านอัตราผลตอบแทนนั้น แม้ว่าจะมีระดับที่ต่ำกว่าทางเลือกในการออมที่ความเสี่ยงใกล้เคียงกันอย่างพันธบัตรออมทรัพย์ ตามระยะเวลาการลงทุนที่สั้นกว่านั้น แต่ก็ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากประจำ ขณะที่สภาพคล่องของการลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้ ถือว่าค่อนข้างสูง เพราะจะได้รับเงินสดหลังจากส่งคำสั่งขายหน่วยลงทุนภายในระยะเวลาประมาณ 1 วันทำการ

...อย่างไรก็ตาม ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยแวดล้อมของการออมในช่วงครึ่งหลังของปี 52 นี้ จะยังปะปนไปด้วยข่าวเชิงลบ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ผู้มีเงินออมคงจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยง และอัตราผลตอบแทนของแต่ละทางเลือกในการออมอย่างรอบคอบ ตลอดจนประเมินถึงสภาพคล่องและความต้องการใช้เงินในแต่ละช่วงเวลาอย่างระมัดระวัง โดยจะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการ “วางแผนทางการเงิน” ล่วงหน้า อันจะนำมาสู่การจัดสรรพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมได้...

แหล่ง : http://www.ksmecare.com/

17 เคล็ดลับในการประหยัดเงินสำหรับคุณผู้หญิง

ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้อะไรประหยัดได้ต้องประหยัดค่ะ

1.เวลามาทำงานหรือต้องออกไปพบลูกค้า ถ้าอยู่ใกล้ที่ทำงานให้ใช้บริการรถไฟฟ้าค่ะ จะเป็นบีทีเอสหรือใต้ดินก็แล้วแต่สะดวก หรือจะนั่งรถแอร์ก็ได้ ประหยัดแถมเย็นอีกต่างหาก

2.ถ้าเพื่อนชวนไปกินข้าวในช่วงที่เงินเดือนออกพอดี ให้เลี่ยงเพื่อนที่ช้อปเก่งๆ ไว้ เพราะเดาได้เลยว่ากินเสร็จเค้าต้องดึงคุณไปช้อปกระจายแน่ค่ะ

3.อย่าช้อปตอนที่คุณอารมณ์ไม่ดี เบื่อ หรือเซ็งสุดขีดนะคะ เพราะเงินจะโบยบินออกจากกระเป๋าง่ายมากเลยค่ะ

4.มองหาร้านอาหารที่จัดโปรโมชั่นลดราคาพิเศษไว้ เช่น หลังหนึ่งทุ่มจะได้ลดค่าอาหาร 30 - 60% อะไรทำนองเนี้ยน่ะค่ะ แต่ต้องดูด้วยนะว่าอาหารยังสดสะอาดอยู่รึเปล่า ไม่ยังงั้นคุณคงต้องเสียค่ายาแก้ท้องเสียเพิ่ม

5.เวลาซื้อเสื้อผ้าอย่าซื้อตามเทรนด์มากนัก มันจะตกรุ่นเร็วมากค่ะ ให้เน้นที่ใส่ได้หลายโอกาสแต่ก็ไม่เชยจนเกินไปจะดีกว่าค่ะ

6.แต่ถ้ายังฝังใจกับแฟชั่นตามเทรนด์อยู่ ให้พยายามห่างหนังสือแฟชั่นไว้ ไม่งั้นคุณได้เสียตังค์ตามใจอยากแน่ๆ

7.คิดถึงช่วงที่เราไม่มีเงิน หรือเงินไม่พอใช้เข้าไว้ค่ะ จะช่วยยับยั้งการใช้เงินได้

8.อย่าพกเงินสดในกระเป๋าเยอะนัก ให้จำไว้ว่าพกเยอะจ่ายเยอะ เผลอๆ จะมีเจ้าหัวขโมยมาเอาไปใช้ด้วยจะแย่ไปใหญ่ค่ะ

9.พยามยามอย่าเที่ยวกลางคืนหรือทานข้าวนอกบ้านให้บ่อยนัก เพราะนั่นเป็นการสิ้นเปลืองมากที่สุดเลย ไหนต้องเลี้ยงเพื่อน ไหนต้องให้ทิปพนักงานอีก ไม่คุ้มค่ะ

10.มองหาวิธีออมเงินดีกว่า เช่น ซื้อประกันแบบออมทรัพย์ เพราะในระยะยาวมันจะมีประโยชน์กับคุณนะคะ

11.หากกำลังเล็งของไว้ชิ้นนึงควรตั้งงบประมาณไว้ก่อน แล้วสืบเสาะราคาของชิ้นนั้นหลายๆ ที่ค่ะ อย่ารีบซื้อทันทีที่เห็น ไม่งั้นจะเสียใจทีหลังเพราะไปเจอราคาถูกกว่าทั้งๆ ที่คุณสมบัติเหมือนกันทุกประการ

12.ใช้บัตรเครดิตในยามจำเป็นจริงๆ อย่าลืมว่าบางครั้งมีการชาร์ทด้วย เงินที่เค้าชาร์ทเราไปมันน่าเสียดายนะคะ

13.ของใช้ที่จำเป็นในบ้านควรซื้อตอนลดราคาค่ะ ยิ่งเดี๋ยวนี้ตามห้างใหญ่มักแข่งขันกัน เราก็มีโอกาสเปรียบเทียบราคาได้ ห้างไหนถูกสุดก็ไปห้างนั้นแหละค่ะ

14.ถ้ามีคนมาชวนให้สมัครบัตรต่างๆ ต้องดูก่อนค่ะว่าเสียตังค์มั้ย ถ้าเสียเยอะจนเว่อร์ไปก็ไม่ต้องสมัครหรอกค่ะ บางทีสมัครไปไม่ได้ใช้ด้วยซ้ำพกให้หนักกระเป๋าเปล่าๆ

15.พวกเครื่องสำอางก็เลือกซื้อแบบที่เราจำเป็นต้องใช้จริงๆ ค่ะ บางคนเห็นอันไหนออกมาใหม่ซื้อไว้ก่อน ใช้ไม่ใช้ค่อยว่ากัน บางคนซื้อเก็บไว้จนเสียก็มีนะคะ

16.เสื้อผ้าที่เรามีอยู่หากเรารู้จัก Mix & Match ก็จะช่วยประหยัดตังค์ไปได้เหมือนกัน อย่าลืมว่าชุดสวยๆ เดี๋ยวนี้ราคาไม่ใช่ถูกๆ แล้วนะคะ ยิ่งสวยก็ยิ่งแพงค่ะ

17.ใครที่กำลังคิดจะเปลี่ยนแฟนใหม่ล่ะก็..อย่าเพิ่งค่ะ..เอ๊ะแล้วมันเกี่ยวกับกับการประหยัดตรงไหนล่ะ..เกี่ยวค่ะ เพราะถ้าทิ้งคนเก่าไปหาคนใหม่ ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการกิน การเที่ยว เพิ่มขึ้นไงคะ อย่าลืมว่าตอนจีบกันเงินเรายังไม่แชร์กันหรอกนะ ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกเสมอ พอเป็นแฟนกันแล้วนั่นแหละถึงจะหารสองค่ะ

ที่มา : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=welcome-to-my-blog&month=06-2008&date=24&group=34&gblog=119

วิธีออมเงินของคู่รักง่าย ๆ


คู่รักหนุ่มสาวที่กำลังเก็บเงินเก็บทองหันมาทางนี้ เรามีเคล็ดลับดี ๆ ที่จะให้ชีวิตการเงินของคุณทั้งคู่ดำเนินไปอย่างราบรื่นเพราะอย่าลืมไปละว่า เรื่องรักกับเรื่องเงินมันคนละเรื่องเดียวกัน บริหารให้เป็นไว้เถิด แล้วหัวใจสีชมพูจะราบรื่นไปจนถือกระบองยอดเพชรเลยทีเดียว

คงไม่ปฏิเสธกันว่า เดี๋ยวนี้คู่รักหลายคู่มักมองการเก็บเงินทองไว้เพื่อการแต่งงาน และการสร้างเรือนหอ จริงอยู่ค่ะ ที่เงินก้อนแรกของชีวิตคู่มักจะหมดไปกับเรื่องเหล่านี้ แต่เรื่องอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกล่ะ คุณ ๆ ได้มองเผื่อไว้หรือเปล่า ที่เราบอกเช่นนี้เพราะเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ (คุณมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย) อาจบานปลายและเป็นปัญหาใหญ่ได้ถ้าไม่เตรียมวางแผนไว้แต่เนิ่น ๆ สำคัญที่สุดคือการสื่อสารระหว่างกัน ส่วนประเด็นจะเป็นอะไรบ้างนั้น ลองนำตัวอย่าง 5 ประการเหล่านี้ไปเป็นไอเดียกันดู

1. เปิดอกเรื่องการใช้เงิน

เพราะแต่ละคนก็ต่างที่มา แถมยังมีสไตล์การจับจ่ายที่แตกต่างกันออกไปอีกคุณทั้งคู่จึงควรหันหน้าเขาหากัน และพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องอุปนิสัยในการใช้จ่ายให้ชัดเจนขอแนะนำให้พูดคุยกันตั้งแต่แรกๆ ที่คบหา เพราะเงินทองเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และจะดีมาก หากคุณจะบอกเล่าถึงปัญหาเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (แถมยังทำให้ความสัมพันธ์แนบแน่นขึ้นอีกด้วย) บอกจำนวนรายได้ที่แท้จริงอย่างไม่ปกปิด จำนวนเงินเก็บ วงเงินบัตรเดรดิต ที่สำคัญ บอกไปเลยว่าแต่ละคนมีหนี้สินคนละเท่าไหร่ และจะทำอย่างไรให้หนี้ก้อนนี้คลี่คลายไปได้ มากยิ่งกว่านั้น หากคุณมีความฝัน ไม่ว่าการลงทุน หรือซื้อหาอะไรก็ตามแต่ คุณควรบอกกล่าวต่อกัน เผื่อว่าอีกคนจะสามารถต่อเติมฝันจนเป็นจริงได้ไงล่ะรู้หรือเปล่า!

ผู้หญิง 40 เปอร์เซ็นต์ และผู้ชาย 36 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าพวกเขาปกปิดเรื่องค่าใช้จ่ายต่อคู่ของตน โดยเฉพาะเรื่องของสินค้าฟุ่มเฟือยเปิด

2.บัญชีร่วมกัน

เป็นเรื่องดีที่ต่างคนต่างมีเงินเก็บแต่หากมั่นใจแล้วว่าคุณทั้งคู่จะลงหลักปักฐานด้วยกัน เราขอแนะนำ (โดยเฉพาะคู่รักหนุ่มสาว) ให้เปิดบัญชีร่วมกันสักหนึ่งบัญชี เพื่อเก็บสะสมเงินทองไว้ใช้จ่ายในกรณีของชีวิตคู่ ไม่ว่าการลงทุนในกิจการเล็ก ๆ การจับจ่ายในทรัพย์สินบางอย่าง หรือการใช้หนี้ที่คุณทั้งสองตกลงใจจะชำระร่วมกัน แต่ทั้งนี้ควรตกลงกันให้มั่นเหมาะ ว่าเงินก้อนนี้มีเป้าหมายในการใช้จ่ายอย่างไรบ้าง จงขี้แจงให้เป็นนิสัย เพราะการสื่อสารจะทำให้ปัญหาในการใช้จ่าย (และปัญหาอื่น ๆ) ลดลงได้เยอะ

รู้หรือเปล่า! ตัดสินใจให้มั่นเหมาะ ว่าบัญชีเล่มนี้จะใช้ชื่อของใคร(หรือจะใช้ชื่อของทั้งสองคน) เพราะอย่าลืมว่าเมื่อต้องการทำธุรกรรมเจ้าของบัญชีต้องเป็นผู้ดำเนินเรื่อง แต่หากเจ้าของบัญชีมีพฤติกรรมไม่น่าไว้ใจนัก อะไรจะเกิดขึ้น

3.วางแผนสำรองล่วงหน้า
แผนสำรองที่เรากล่าวถึง คือการวางแผนแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าอบัติเหตุ การมีบุตรรวมไปถึงการหย่าร้าง จำไว้ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หรือการพูดเป็นลาง แต่จะดีกว่ามาก หากคุณทั้งคู่วางแผนไว้แล้วหากมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น เช่นหากทั้งคู่หย่าร้าง แต่มีหนี้สินที่ยังต้องรับผิดชอบร่วมกัน คุณทั้งสองจะทำอย่างไร จะร่วมกันจ่ายหรือจะแบ่งไปเลยว่าหนี้ก้อนไหนใครเป็นผู้รับผิดชอบ หรือเรื่องการเงินสำหรับลูก ๆ ก็เช่นกัน คุณจะทำอย่างไรสำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าค่าเล่าเรียน ค่าเลี้ยงดู รวมทั้งค่าใช้จ่ายจิปาถะ ที่ล้วนเป็นเรื่องสำคัญ ดูตัวอย่างคู่ร้างหลายคู่ที่ฟ้องร้องเรื่องเงินทองหลังการหย่านั่นดูสิ้ ว่าน่าปวดหัวขนาดไหน

รู้หรือเปล่า! ในต่างประเทศมักตั้งทนายประจำตระกูลสำหรับจัดการบัญชีต่าง ๆ ส่วนบ้านเราที่ไม่ค่อยอยากมีเรื่องคดีความ ขอแนะนำให้ตกลงเรื่องหนี้สินทุกอย่างให้ขัดเจนก่อนใช้ชีวิตคู่

4. ตกลงเรื่องค่าใช้จ่าย

เพราะผู้หญิงยุคใหม่หลายต่อหลายคนมาแรงแซงล้ำจนมีรายได้และตำแหน่งสูงกว่าฝ่ายชาย การพูดคุยเรื่องรายได้ที่คุณได้รับมากกว่า และค่าใช้จ่ายในครอบครัว (ที่ควรช่วยกัน) จึงจำเป็นอย่างมากเพื่อไม่ให้ทั้งคู่เกิดปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในภายหลัง คุยกันไปเลยว่าคุณผู้ชายโปรดอย่ามองเห็นรายได้ที่มากกว่าเป็นปัญหาใหญ่และการมีรายได้มากกว่า ก็ไม่ได้หมายถึงความรับผิดชอบที่มากกว่าแต่ควรแบ่งเบากันไปตามกำลัง และความถนัดในการแบกรับ ทั้งการแบ่งเบาแบบนี้ยังช่วยให้ฝ่ายชายรู้สึกดีอีกด้วยว่า เขาเองก็มีส่วนร่วมเท่าเทียมกับฝ่ายหญิง

รู้หรือเปล่า! หาวิธีการพูดจาที่ถนอมความรู้สึกของอีกฝ่าย เพราะเราต้องไม่ลืมว่า โดยสัญชาตญาณของผู้ชายนั้น ไม่ต้องการให้คู่ครองของตนเก่งเกินหน้า และมีรายได้มากกว่าจนนึกไปว่าตนไม่สามารถเลี้ยงดู และเป็นผู้นำครอบครัวที่ดีได้

5.อะไร ๆ ก็เปลี่ยนได้

น้ำต้มผักยังมีขม แล้วประสาอะไรที่เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ จะไม่สร้างปัญหา โดยเฉพาะ 5 - 10 ปี หลังแต่งงานที่หลาย ๆ คู่มักถึงทางตัน จนต้องจับเข่าคุยกันให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ทางออกคือการตกลงใจร่วมกันในแต่ละปี ว่าเงินก้อนที่มีนั้นคุณทั้งสองจะใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง เช่น หากคนหนึ่งต้องการนำไปลงทุน แต่อีกคนต้องการนำไปเปลี่ยนรถใหม่ ก็ควรหาข้อยุติที่ลงตัวที่สุด คุยให้แน่ใจว่า ข้อตกลงนี้จะไม่มีฝ่ายไหนที่เสียความรู้สึก และคำนึงถึงเรื่องอื่น ๆ ประกอบกันด้วย เช่น เงินที่ต้องใช้เลี้ยงดูลูก การซื้อของชิ้นใหญ่ หรือการเดินทางพักผ่อน ทั้งนี้ต้องไม่ลืมคิดเผื่อในกรณีที่อีกฝ่ายอาจสูญเสียรายได้ในอนาคต เช่น การลาออกจากงาน เงินเก็บจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรสำรองไว้ ไม่ใช้ตามใจการใช้จ่ายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปซะหมด

รู้หรือเปล่า! เรารู้ว่าผู้หญิงกับการช้อปปิ้งเป็นของคู่กัน แต่จะดีกว่ามากถ้าผู้หญิงอย่างเราจะรู้จักยับยั้งชั่งใจบ้าง อย่างน้อยนิสัยการใช้จ่ายที่เกินตัว ก็ทำให้ชีวิตคู่หลายคนต้องมีปัญหา และบางครั้งก็อาจลุกลามไปจนถึงการเลิกราได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://financialopen.blogspot.com/2009_06_01_archive.html

8 เคล็ดลับใช้เงินซื้อความสุขให้ตัวเอง


เคยมั้ย เมื่อคุณได้ได้โบนัสประจำปี หรือเมื่อถึงวันเกิด วันสำคัญในชีวิต คุณจะยอมควักกระเป๋าเพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเองโดยไม่ลังเล เสียดาย หรือหาเหตุผลร้อยแปดมาบอกปัดความต้องการของตัวเอง ถ้าคำตอบคือ ไม่

วันนี้ "ไทยรัฐออนไลน์" มีกุญแจไขความลับเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเงินกับความสุข เพื่อทำให้คุณมีความสุขมากขึ้นมาฝาก

ความลับที่ว่าก็เพียงง่าย หากคุณยอมจ่ายเงิน เพื่อ

1.สาน สัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนในครอบครัวและเพื่อนของคุณให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

จากผลการศึกษาพบว่าการมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น เป็นอีกหนึ่งในพื้นฐานสำคัญของการมีความสุขในชีวิต โดยคุณเพียงแค่ซื้อตั๋วเครื่องบินซักใบเพื่อบินไปดูหน้าหลานคนแรกของคุณ หรือสละเวลาไปร่วมงานเลี้ยงรุ่นสมัยมัธยม แทนที่จะไปสนุกสุดเหวี่ยงกับงานงานปาร์ตี้

2.ทิ้งความเบื่อหน่ายใน ชีวิตหลังแต่งงาน

หากคุณยังจมปลัก และวุ่นวายใจกับเรื่องสนามหญ้าที่ขึ้นรก ผ้ากองโตที่ยังไม่ได้ซัก ขอแนะนำให้คุณใช้เงินแก้ปัญหาเหล่านี้ ด้วยการจ้างเด็กวัยรุ่นพาร์ทไทม์ซักคนมาช่วยคน พร้อมกับล้างโรงรถของคุณให้สะอาดเอี่ยมด้วย

3.ออกกำลังกายให้มากขึ้น

จากผลการวิจัยพบว่าการออกกำลังเป็นวิธีที่เร็วที่สุด และวิธีที่รับรองได้ว่าสามารถช่วยให้อารมณ์ของคุณดีขึ้น ยิ่งถ้าคุณเป็นคนที่ยอมลงทุนควักกระเป๋าเพื่อซื้ออะไรง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นซื้อไอพอด เครื่องเล่นเอ็มพี3แล้วหล่ะก็ การสู้ราคาเพื่อไปออกกำลังกายในยิมที่หรูหราทันสมัย หรือการซื้อรองเท้ากีฬาใหม่ซักคู่ก็ไม่ใฃ่เรื่องยาก เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้คุณอยากออกกำลังมากขึ้น เชื่อเถอะว่านี่คือการลงทุนเพื่อความสุขที่คุ้มสุดๆ

4.คิดถึงเรื่อง ที่สนุก และสามารถสร้างเสียงหัวเราะให้กับคุณได้

คุณเพียงแต่สละเวลาเล็กน้อยเพื่อคุยกับตัวเองและลองถามตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่ สามารถสร้างความบันเทิงเริงใจให้คุณได้ การตกปลา ชมนก การเดินทาง การล่าสัตว์ แม้กระทั่งการเดินช็อบปิ้งของมือสอง การทำครัว การเล่นสกี หรือการทำสมุดภาพ

สิ่งสำคัญ คือ คุณต้องมั่นใจว่าปฎิทินการทำงานส่วนตัวของคุณยังมีที่ว่างพอสำหรับกิจกรรม ที่สามารถสร้างความสุขให้คุณได้ และเพื่อให้เงินเป็นตัวสร้างความสุขให้กับคุณ คุณควรจะใช้เงินเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ แทนที่คุณจะเป็นเพียงผู้ครอบครองเงินมากๆไว้เท่านั้น

5.สงบและมั่นคง

ความสงบเป็นความสุขทางใจอย่างหนึ่ง ซึ่งเงินของคุณก็สามารถช่วยให้มันเกิดขึ้นได้ ด้วยการชำระหนี้สินที่มีอยู่ หรือการเก็บออมเงินไว้ส่วนหนึ่ง

6.จ่ายเงินเพื่อซื้ออาหารที่เป็น ประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น

ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ราคาของผัก ผลไม้ และอาหารสุขภาพทั้งหลายมักจะมีราคาแพงกว่าอาหารฟาสต์ฟู้ด แต่การกินอาหารที่มีประโยชน์จะส่งผลดีในระยะยาวต่อร่างกายของคุณ

7.ใช้ เงินของคุณเพื่อคนอื่นบ้าง

หนึ่งในวิธีของการสร้างความสุขให้กับตัวคุณเอง คือ การทำให้คนอื่นมีความสุขด้วย ให้ลองพยายามนึกว่าคุณจะใช้เงินของคุณไปในทางใดเพื่อช่วยให้คนอื่นพบกับ โอกาสที่แตกต่างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่นคุณอาจบริจาคหนังสือของคุณเพื่อเติมเต็มชั้นหนังสือที่ว่างเปล่าของเด็ก ที่ยากไร้ เป็นต้น

8.ให้คิดถึงตัวเองก่อน

กุญแจสำคัญของการมีความสุขที่สำคัญที่สุด คือการรู้จักตัวเอง และรู้ว่าอะไรจะทำให้ตัวเองพบกับความสุขที่แท้จริง

ข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์

เดินทางแบบประหยัดน้ำมัน

อย่าให้ค่าน้ำมันที่แพงทำให้คุณกลัวเปลืองจนไม่กล้าไปไหน

"การขับรถพาครอบครัวไปเที่ยวยังคงเป็นวิธีเดินทางที่ถูกที่สุด" จัสทิน แม็กนอลจากสมาคมยานยนต์แห่งอเมริกา กล่าว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณขับรถเที่ยวในระยะทางยาว 800 กิโลเมตร โดยใช้รถที่วิ่งได้สิบกิโลเมตรต่อน้ำมันหนึ่งลิตร และคุณเติมน้ำมันราคาลิตรละ 29 บาท คุณก็จะเสียเงินเติมน้ำมันเพียง 2,320 บาทเท่านั้นสำหรับการเดินทางทั้งครอบครัว ก่อนจะออกรถ สิ่งที่ควรทำก็คือ

1. บำรุงรักษารถให้อยู่ในสภาพดี ให้ช่างปรับเครื่องยนต์ให้ดี เปลี่ยนไส้กรองอากาศ เติมลมยางให้พอดี และใช้น้ำมันเครื่องให้ถูกชนิดจะประหยัดน้ำมันได้ร้อยละ 19

2. ลดน้ำหนักบรรทุก สัมภาระหนัก 45 กิโลกรัมในกระโปรงรถจะทำให้เปลืองน้ำมันขึ้นร้อยละหนึ่งถึงสอง สัมภาระที่อยู่บนหลังคาจะทำให้เปลืองขึ้นถึงร้อยละห้าทีเดียว

3. ไม่ต้องเติมน้ำมันชั้นดี น้ำมันชั้นยอดไม่ทำให้รถคุณวิ่งได้ไกลขึ้นหรือดีขึ้นหรอกถ้าคู่มือไม่ได้ระบุว่ารถคุณต้องการน้ำมันชั้นเยี่ยมนั้นจริงๆ รถเพียงร้อยละสิบเท่านั้นที่ต้องใช้น้ำมันชั้นดี

4. สมัครบัตรเครดิตที่ให้ส่วนลดในการเติมน้ำมัน บัตรเครดิตหลายบริษัทให้ส่วนลดหรือมีเงินคืนให้สำหรับเงินที่ใช้เติมน้ำมันหรือซื้อสินค้าอื่นๆ

ที่มา : http://www.readersdigest.co.th

29 เคล็ดลับทางการเงิน

29 เคล็ดลับทางการเงิน
แล้วคุณจะงอกเงยได้ในทุกสถานการณ์
โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์
ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินยังคงถกเถียงกันว่า อะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงของวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น แล้วเราจะรอดพ้นจากภาวะนี้ได้อย่างไร และขณะที่ยังไม่ได้ข้อสรุป คุณคงอยากรู้วิธีเพิ่มพูนเงินทองจะได้ไม่ต้องหวั่นไหวไปกับตลาดหลักทรัพย์ที่วูบวาบขึ้นลง ต่อไปนี้คือกลยุทธ์ที่คุณสามารถเรียนรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายน้อยลง ลดหนี้ ใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีให้เต็มที่ และสะสมไว้ใช้ยามเกษียณ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมุ่งเน้นในสิ่งที่คุณสามารถควบคุมได้ เพราะก้าวเล็กๆสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เสมอ

ภาษี
1. หักลดหย่อนให้เต็มที่
พวกเราบางคนอาจยังไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กรมสรรพากรให้มาอย่างเพียงพอ ตัวอย่างเช่น หลายคนอาจยังไม่ได้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ที่สามารถนำเงินลงทุนไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงถึงร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาทต่อกองทุน หรือซื้อประกันชีวิตที่สามารถนำเบี้ยประกันไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 100,000 บาท หากฐานเงินได้ของคุณอยู่ที่อัตราภาษีร้อยละ 37 คุณจะสามารถประหยัดภาษีได้ถึง 407,000 บาท เมื่อซึ้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและกองทุนหุ้นระยะยาวอย่างละ 500,000 บาท และจ่ายเบี้ยประกันชีวิต 100,000 บาท

2. ให้ลูกมีเงินได้และยื่นภาษีในชื่อลูก
ปัจจุบัน กรมสรรพากรให้สิทธิการหักค่าลดหย่อนบุตรได้สามคน เพียงคนละ 17,000 บาท (กรณีที่บุตรยังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศ) หากฐานภาษีของคุณอยู่ที่ร้อยละ 37 คุณจะประหยัดภาษีจากการหักลดหย่อนบุตรได้เพียง 6,290 บาท แต่หากบุตรของคุณมีเงินได้ เงินได้ 150,000 บาทแรกที่เขาได้รับไม่ต้องเสียภาษี และสามารถหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้อีก 30,000 บาท รวมแล้วรายได้ของเขา 180,000 บาทไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งจะประหยัดภาษี
กว่ามาก

3. อย่าขอภาษีคืน ทุกครั้งที่คุณขอภาษีคืนจากกรมสรรพากร
ขอให้คุณระลึกได้เลยว่า คุณได้ให้กรมสรรพากรยืมเงินใช้โดยไม่เสียดอกเบี้ยแล้ว ตัวอย่างเช่นในปี 2552 นี้ คุณสามารถขอคืนภาษีได้ 100,000 บาท เงินก้อนนี้เป็นสิทธิของคุณ และหากคุณได้ภาษีคืนในเดือนมิถุนายน เท่ากับคุณเสียประโยชน์จากการนำเงินของคุณดังกล่าวไปแสวงหาดอกผลถึงหกเดือน หรือเท่ากับคุณให้กรมสรรพากรยืมเงินใช้โดยไม่เสียดอกเบี้ยนั่นเอง สิ่งที่คุณควรทำคือการเสียภาษี ณ ที่จ่ายให้ต่ำที่สุด เช่น หากคุณมีการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและกองทุนหุ้นระยะยาว หรือซื้อประกันชีวิต คุณควรแจ้งฝ่ายบัญชีขององค์กรที่คุณทำงานอยู่ เพื่อจะได้ปรับลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินเดือนตามการลดหย่อนของคุณ ทำให้คุณไม่ต้องไปขอภาษีคืนในปีถัดไป

4. เลือกการลงทุนที่ได้รับประโยชน์ทางภาษี
หากฝากเงินในธนาคาร คุณต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับดอกเบี้ยที่ได้รับร้อยละ 15 หากคุณลงทุนในกองทุนตราสารทางการเงินหรือกองทุนตราสารหนี้ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการขายคืนกองทุนไม่ต้องเสียภาษี แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาความเสี่ยงของกองทุนที่คุณลงทุนว่าลงทุนในอะไร หากเป็นพันธบัตรรัฐบาลก็ปลอดภัย แต่หากเป็นหุ้นกู้เอกชนต้องดูเรื่องความเสี่ยงในการลงทุนด้วย
บัญชีเงินฝาก
5. ตรวจสอบค่าธรรมเนียมธนาคาร
ค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีของธนาคารที่คุณฝากอยู่ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน ทุกธนาคารจะมีการคิดค่าธรรมเนียมดังกล่าวสำหรับบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหวเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดหรือมียอดคงเหลือต่ำกว่าที่กำหนด ดังนั้น คุณควรระมัดระวังไม่ให้ผิดเงื่อนไข
6. ใช้ธนาคารบนอินเทอร์เน็ต
คุณจะพบกับความสะดวกสบาย รวดเร็วและปลอดภัยจากการทำธุรกรรมธนาคารบนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน ชำระเงิน ตรวจสอบรายการ การลงทุน ฯลฯ และจากการที่ธนาคารพาณิชย์ต่างให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของการทำธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ตดังกล่าว คุณจึงสามารถวางใจได้ในความปลอดภัยมากกว่าการทำธุรกรรมตามสาขาธนาคารที่อาจพบกับพวกมิจฉาชีพที่อาจเข้ามาทำร้ายโดยตรงหรือการลักลอบใช้เครื่องบันทึกไปติดไว้ที่ตู้แล้วปลอมบัตรเอทีเอ็มของคุณ

7. เก็บเงินของคุณไว้ในที่ปลอดภัย
หากคุณต้องเก็บเงินสำรองเผื่อใช้ยามฉุกเฉิน เช่น ตกงาน ฯลฯ คุณควรเก็บเงินสดในที่ๆปลอดภัย เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลค้ำประกันเต็มวงเงิน) หรือลงทุนในกองทุนตราสารทางการเงินที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ แต่ข้อเสียของการออมเงินแบบนี้คือผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ หรืออาจเลือกการออมเงินในบัญชีเงินฝากประจำที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า และรัฐบาลค้ำประกันเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีกองทุนพันธบัตรรัฐบาลที่กำหนดอายุการลงทุนที่แน่นอน เช่น สามเดือน หกเดือน เก้าเดือน หรือหนึ่งปี ซึ่งนอกจากความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ ผลตอบแทนที่ได้ยังไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย

หนี้

8. ลดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต
ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงการคืนบัตรเครดิตที่มีอยู่ แต่หมายถึงการรักษาวินัยในการใช้จ่ายผ่านบัตร จริงอยู่แม้การคืนบัตรเครดิตจะเป็นวิธีที่ได้ผลสำหรับการลดการใช้จ่ายผ่านบัตร แต่เป็นการลดเงินสำรองที่คุณสามารถนำมาใช้ได้ยามฉุกเฉินเช่นกัน และการลดจำนวนบัตรอาจมีผลต่อการประเมินเครดิตของคุณ เพราะธนาคารผู้ออกบัตรจะประเมินเครดิตคุณจากยอดการใช้จริงเทียบกับวงเงินที่ให้ หากคุณใช้จ่ายใกล้เคียงกับวงเงินที่ให้ แสดงว่าคุณมีความเสี่ยงด้านเครดิตสูง ดังนั้น หากคุณลดจำนวนบัตร โดยที่คุณไม่ลดการใช้จ่าย จะทำให้ยอดการใช้จ่ายต่อบัตรสูงขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อการประเมินเครดิตของคุณได้ สำหรับจำนวนบัตรเครดิตที่เหมาะสมคือประมาณ 2-3 ใบต่อคน

9. ชำระหนี้ให้ตรงเวลา
การชำระหนี้ช้ากว่ากำหนด นอกจากค่าปรับและดอกเบี้ยที่ต้องเสียเพิ่ม ประวัติการผิดนัดชำระหนี้ของคุณจะปรากฏอยู่ในบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ซึ่งจะทำให้คุณมีปัญหาในการกู้เงินครั้งต่อไป หรืออาจต้องเสียดอกเบี้ยที่แพงขึ้น คุณอาจใช้การหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติสำหรับการชำระหนี้รายการสำคัญ เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถฯลฯ เพื่อสร้างวินัยในการชำระหนี้ ซึ่งจะช่วยให้คุณได้รับความไว้วางใจจากเจ้าหนี้มากยิ่งขึ้น
10. ชำระหนี้เพิ่มในแต่ละเดือน
การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2550 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค (ภาษี ดอกเบี้ย ฯลฯ) ร้อยละ 12.2 ของรายจ่ายทั้งหมด หากคุณเพิ่มการชำระหนี้ให้มากขึ้นในแต่ละปี จะช่วยลดภาระหนี้ให้เร็วขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น ที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละห้า หากคุณชำระเพิ่มขึ้นร้อยละสิบต่องวด คุณจะสามารถลดเวลาที่เป็นหนี้ได้ถึงร้อยละ 12.59

11. ให้เงินออมทำงานแทนคุณ
หลายคนที่แม้เป็นหนี้อยู่ ก็ยังรู้สึกสบายใจที่ออมเงินในเงินฝากธนาคารแม้ดอกเบี้ยต่ำมากเหลือแค่ร้อยละ 0.75 ถึง 2.5 ขณะดอกเบี้ยเงินกู้ยังอยู่ในระดับสูงร้อยละ 6.75 ถึง 9 ผลตอบแทนของเงินฝากที่ต่ำเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้คุณมีภาระในการหารายได้เพิ่มขึ้น แต่หากถอนเงินฝากเพื่อไปลดภาระหนี้ก็น่าจะช่วยแบ่งเบาภาระของคุณได้เช่นกัน หรือมองอีกด้าน เหมือนคุณเพิ่มผลตอบแทนเงินออมของคุณตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั่นเอง ผู้เชี่ยวชาญการเงินให้คำแนะนำที่น่าสนใจไว้ว่า หากคุณต้องการลดภาระหนี้ ขณะเดียวกันต้องการมีเงินสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินด้วย ควรแบ่งร้อยละห้าของรายได้มาชำระหนี้ และอีกร้อยละห้าเก็บเข้าบัญชีออมทรัพย์

12. ผ่อนบ้านให้เร็วขึ้น
แม้กรมสรรพากรจะให้สิทธิประโยชน์สำหรับการนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาทในแต่ละปี แต่อย่างไรก็ตาม คุณยังมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่เช่นเดิม การผ่อนชำระเพียงจำนวนน้อยๆในแต่ละงวด นอกจากอาจจะทำให้คุณไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ (ดอกเบี้ยจ่ายไม่ถึง 100,000 บาท) คุณยังต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น หากคุณกู้เงินซื้อบ้านหนึ่งล้านบาทที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.75 ต่อปี กำหนดผ่อนทุกเดือนเป็นเวลาสิบปี คุณจะต้องผ่อนเดือนละ 11,300 บาท รวมทั้งหมดเป็นเงิน 1.356 ล้านบาท (เท่ากับคุณจ่ายดอกเบี้ย 356,000 บาท) หากคุณผ่อนเร็วขึ้นเป็นห้าปี คุณจะต้องผ่อนเดือนละ 17,500 บาท รวมทั้งหมดเป็นเงิน 1.05 ล้านบาท (เท่ากับคุณจ่ายดอกเบี้ยเพียง 50,000 บาท) จะเห็นได้ว่ายิ่งผ่อนเร็วเท่าไหร่ ภาระดอกเบี้ยก็น้อยลงเท่านั้น และที่สำคัญคือ คุณสามารถใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านนำมาลดหย่อนภาษีได้อย่างเต็มที่ด้วย

13. ลดค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่ไม่จำเป็น
แม้ปัจจุบัน บัตรเครดิตบางสถาบันการเงินจะยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี แต่หลายแห่งยังคิดค่าธรรมเนียมรายปีของบัตรเครดิตโดยพ่วงมากับค่าใช้จ่ายต่างๆของเรา (แม้คุณจะเป็นลูกค้าที่ดีมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอย่างสม่ำเสมอ และไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เลยก็ตาม) ซึ่งหากไม่ตรวจสอบรายการในใบแจ้งหนี้ คุณจะไม่ทราบว่าถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมนี้เรียบร้อยแล้ว หากคุณถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ก็ไม่ต้องรีรอที่จะโทรฯไปแจ้งกับบริษัทผู้ออกบัตรเพื่อขอยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว และหากไม่ได้รับยกเว้นก็ยกเลิกบัตรเครดิตนั้นได้เลย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ออกบัตรจะยกเว้นให้เสมอ เพราะทุกแห่งต่างต้องการรักษาลูกค้าที่ดีไว้

14. เจรจากับเจ้าหนี้โดยเร็ว
หากมีปัญหาในการชำระหนี้ เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไม่ต้องการยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้สิน เพราะเสียทั้งเวลา และเงิน ดังนั้น เจ้าหนี้ต้องการลูกค้าที่มีความรับผิดชอบและซื่อสัตย์ เมื่อมีปัญหาให้มาปรึกษากัน ซึ่งเจ้าหนี้จะสามารถช่วยหาทางออกให้แก่ลูกหนี้ได้ไม่ว่าจะเป็นการยืดอายุหนี้ หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

ประกัน
15. หาข้อมูลก่อนซื้อประกันรถยนต์
ด้วยเทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ต ทำให้เราสามารถหาข้อมูลของประกันรูปแบบต่างๆจากบรรดาบริษัทประกันได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว และเพียงใช้เวลาในการโทรศัพท์ไม่กี่นาที คุณก็สามารถต่อรองค่าเบี้ยประกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อได้อัตราเบี้ยประกันที่คุณพอใจค่อยลองปรึกษากับผู้แทนประกันที่คุณใช้บริการอยู่ว่าจะสามารถเสนอบริการที่ราคาเดียวกันได้หรือไม่ วิธีดังกล่าวจะช่วยให้คุณประหยัดค่าประกันได้มาก

16. ซื้อประกันสุขภาพแบบกลุ่มร่วมกับบริษัท
หลายบริษัทมักมีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในให้แก่พนักงานโดยการทำประกันสุขภาพแบบกลุ่มให้ ขณะเดียวกัน หลายบริษัทยังขยายสิทธินี้ให้แก่ครอบครัวของพนักงานด้วย โดยครอบครัวของพนักงานสามารถเข้าร่วมประกันสุขภาพแบบกลุ่มนี้ได้ในอัตราพิเศษซึ่งเบี้ยประกันต่ำกว่าไปซื้อเองและไม่ต้องตรวจสุขภาพ หากองค์กรที่คุณทำงานอยู่ให้สิทธินี้และคุณมีปัญหาด้านสุขภาพ คุณควรเข้าร่วมประกันกลุ่ม หากคุณมีสุขภาพดี อาจประหยัดค่าใช้จ่ายโดยไม่เข้าร่วมในปีนั้นๆได้ แต่ไม่แนะนำให้ประมาท

17. ซื้อประกันภัยการไร้ความสามารถในการหารายได้
คือการประกันภัยที่จ่ายเงินชดเชย (เป็นรายเดือนหรือเงินก้อน) ให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่ไม่สามารถทำงานใดๆได้ เนื่องจากการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ทั้งนี้ การประกันภัยการไร้ความสามารถในการหารายได้นั้นเป็นกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมจากกรมธรรม์ประกันชีวิตและกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุซึ่งเป็นกรมธรรม์หลัก ประกันแบบนี้จะเป็นประโยชน์เมื่อคุณไม่สามารถทำงานได้เป็นระยะเวลานาน คุณควรมีประกันชนิดนี้เพื่อรับเงินชดเชยกรณีดังกล่าวประมาณร้อยละ 60 ถึง 70 ของรายได้ในแต่ละเดือน เบี้ยประกันประเภทนี้อาจสูง แต่หากสามารถชำระได้ก็เป็นประกันที่คุณควรพิจารณา

18. ซื้อประกันสุขภาพแต่เนิ่นๆ
ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายคนที่อายุเริ่มเข้าสู่วัย 40 มองหาประกันสุขภาพที่มีอายุกรมธรรม์ยาวๆ จุดมุ่งหมายคือ จะได้เสียเบี้ยต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการซื้อตอนอายุมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น ประกันชีวิตที่เน้นประกันสุขภาพของบริษัทแห่งหนึ่งอาจคิดเบี้ยประกันสำหรับผู้ที่อายุ 45 ปีที่ 10,754 บาท แต่สำหรับผู้ที่อายุ 55 ปี ต้องชำระเบี้ยประกันที่ 15,367 บาท และบริษัทประกันอาจไม่รับประกันอีกต่างหากถ้าเรามีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว

19. ซื้อประกันอุบัติเหตุและทุพพลภาพ
เพื่อคุ้มครองการบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน โดยบริษัทประกันจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเท่ากับจำนวนเงินเอาประกัน และหากเป็นการทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรและได้ระบุค่าสินไหมทดแทนเท่ากับจำนวนเงินเอาประกันแล้ว จะได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระเบี้ยประกันตามกรมธรรม์ประกันชีวิตหลักอีกต่อไป

20. คิดให้ดีก่อนซื้อประกันชีวิต
หากคุณไม่มีบุคคลที่อยู่ในความดูแลหรือรับผิดชอบ เช่น ลูก ภรรยา บิดา มารดา ฯลฯ การซื้อประกันชีวิตอาจไม่จำเป็น และการซื้อประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาอาจเป็นทางเลือกที่ดีเพราะค่าเบี้ยประกันถูก โดยคุณกำหนดช่วงเวลาประกันเพื่อคุ้มครองเฉพาะช่วงเวลาที่ลูกคุณจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากคุณเท่านั้นก็พอ ไม่จำเป็นต้องซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่แม้จะให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเมื่อครบอายุกรมธรรม์ เนื่องจากเบี้ยประกันของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์สูงกว่าแบบกำหนดระยะเวลามาก อีกทางเลือกหนึ่งคือการแบ่งเงินมาลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ให้โอกาสของผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่า โดยคุณสามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้

21.เขียนพินัยกรรม
แม้การตายจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึง แต่เพื่อความไม่ประมาท คุณก็ควรเตรียมเรื่องพินัยกรรมไว้ให้ดี เพื่อทรัพย์สินของคุณจะได้เป็นของผู้รับมรดกที่คุณตั้งใจ โดยพินัยกรรมแบบธรรมดาต้องทำเป็นหนังสือ โดยจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำเพื่อพิสูจน์ความสามารถของผู้ทำ และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน และพยานอย่างน้อยสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมในขณะนั้น

เกษียณอายุ

22. สะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
การออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการออมที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในองค์กรที่ มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงาน เพราะนอกจากคุณจะได้รับประโยชน์ทางภาษี คือเงินที่คุณสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแต่ละปีสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีและยกเว้นภาษีเงินได้ตามที่จ่ายเงินสะสมจริงได้สูงถึงร้อยละ 15 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน และผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้งคุณยังจะได้รับเงินสมทบจากนายจ้างในจำนวนที่เท่ากันหรือมากกว่าเงินสะสมของคุณด้วย แล้วแต่จะกำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน เท่ากับคุณได้รับผลตอบแทนทันทีโดยไม่มีความเสี่ยงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าจากเงินสมทบของนายจ้างนั่นเอง

23. ออมเพื่อเกษียณอายุก่อนออมเพื่อการศึกษาของลูก
ฟังดูอาจจะแปลกๆสำหรับผู้ที่มีลูกทั้งหลายที่เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิตคือการศึกษาที่ดีของลูก แต่ที่แนะนำเช่นนี้เนื่องจากการออมเพื่อวัยเกษียณโดยการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ลงทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้และผลตอบแทน ที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ความมั่งคั่งของคุณเพิ่มได้รวดเร็วกว่า เมื่อเทียบกับการออมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาจริงๆในไทยซึ่งยังไม่มีรูปแบบที่เฉพาะ และไม่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่เพื่ออนาคตที่ดีของลูกอาจพิจารณาเพิ่มเติมในการเลือกใช้เครื่องมือการลงทุนอื่นที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีความคาดหวังประมาณผลตอบแทนที่พอเพียง อาทิ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว โดยอาจเลือกกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบระมัดระวังที่มีการลงทุนในเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้น ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการออมเพื่อการศึกษาของลูก

24. ออมเงินในกองทุนประกันสังคม
กองทุนประกันสังคมเป็นการออมบังคับภาคเอกชนอีกรูปแบบหนึ่งที่ให้ประโยชน์ทางภาษี และคุณยังได้เงินสมทบทั้งจากนายจ้างและรัฐบาลอีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ว่างงาน เกษียณอายุ ฯลฯ คุณก็จะได้รับประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ดังนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่ต้องรักษาสถานะสมาชิกกองทุนประกันสังคมไว้อย่างต่อเนื่องพร้อมปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด

25. อย่าซื้อหุ้นขององค์กรที่คุณทำงานอยู่
พราะเป็นการพึ่งพิงความมั่นคงของตนเองกับบริษัทมากเกินไป ควรกระจายความเสี่ยงออกไป เพราะว่าไม่เพียงรายได้ของคุณจะขึ้นอยู่กับความมั่นคงของบริษัทเท่านั้น เงินออม/เงินลงทุนของคุณยังขึ้นกับความมั่นคงของบริษัทเช่นกัน ดังนั้น หากมีปัญหาเกิดขึ้นกับบริษัทที่คุณทำงานอยู่ เช่น กรณีของบริษัทเลห์แมน บราเทอร์สหรือแบร์ สเทิร์นส์ที่ต่างเคยเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก แต่เมื่อธุรกิจประสบปัญหา พนักงานหลายคนกลายเป็นคนตกงาน ขณะที่เงินออมของพนักงานบางคนที่อยู่ในรูปของหุ้นของบริษัทก็ไร้ค่าไปทันทีเช่นกัน

26. หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นโดยตรง
เพราะการลงทุนในหุ้นที่ดี คุณจะต้องมีความรู้ ข้อมูลด้านการวิเคราะห์และลงทุนที่ดี ทางเลือกอื่นที่ดีกว่าคือการลงทุนในหุ้นผ่านกองทุนรวม เพราะนอกจากเงินของคุณจะได้รับการบริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้ มีข้อมูลแล้ว ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนด้วย แต่ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุนหุ้น ควรเป็นการลงทุนระยะยาวและคุณสามารถรับความเสี่ยงที่จะขาดทุนได้เช่นกัน

27. ลงทุนในกองทุนดัชนี
กองทุนดัชนีคือ กองทุนที่มีการกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นฐานในการคำนวณดัชนีในสัดส่วนที่สอดคล้องกับดัชนีที่อ้างอิง เช่น กองทุนทีเด็กซ์ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นที่อ้างอิงดัชนีเซ็ต 50 ข้อดีของกองทุนประเภทนี้คือ มีค่าใช้จ่ายต่ำและมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนที่ดี โดยไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากมาลงทุน หากคุณคาดหวังประมาณผลตอบแทนจากการลงทุนที่ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี กองทุนดัชนีก็เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกองทุนดัชนีก็ควรเป็นเงินเย็นและสามารถลงทุนได้ระยะยาว

28. ซื้อหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนจากสถาบันการเงินที่คุณเชื่อถือได้
ปัจจุบัน คุณสามารถซื้อกองทุนรวมได้จากสถาบันการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือบริษัทประกันชีวิต เนื่องจากการลงทุนมีผลต่อความมั่นคงทางการเงินของคุณในอนาคต คุณจึงควรเลือกซื้อกองทุนรวมจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือเท่านั้น โดยพิจารณาจากความรู้ความสามารถในการให้คำแนะนำ จรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ การบริการที่ดีและสม่ำเสมอ ฯลฯ เพื่อที่คุณจะได้วางใจได้ว่าเงินของคุณจะได้รับการดูแลอย่างดี

29. สร้างพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับคุณ
พอร์ตการลงทุนคือ สัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ซึ่งหากเป็นการลงทุนระยะยาว (มากกว่าสิบปี) พอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมคือหุ้นร้อยละ 50 (ตามทฤษฎีการลงทุนระยะยาว ผลตอบแทนในหุ้นจะส่งผลต่อมูลค่าเพิ่มของเงินลงทุนและสามารถชนะเงินเฟ้อได้) ตราสารหนี้ระยะยาวร้อยละ 30 เงินสดหรือหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงเหมือนเงินสด เช่น เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนตลาดเงิน ฯลฯ ร้อยละ 20 แต่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน การจัดสัดส่วนการลงทุนและน้ำหนักการลงทุนในตราสารประเภทต่างๆที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับ ปัจจัยหลากหลายของแต่ละบุคคล ทั้งด้านส่วนตัว อาทิ อายุ อาชีพ อายุการทำงานที่เหลือ หรือ ระยะเวลาที่ลงทุน ภาระค่าใช้จ่าย ข้อจำกัดต่างๆ รวมทั้งด้านการเงินการลงทุน อาทิ จำนวน เงินลงทุน และวัตถุประสงค์การลงทุน ประมาณอัตราผลตอบแทนรวมที่คาดหวัง ระดับความเสี่ยงที่คุณสามารถรับได้ สภาพคล่องของเงินลงทุนที่คุณต้องการ ระยะเวลาลงทุน ภาระภาษี ข้อจำกัดและเงื่อนไขการลงทุน ทั้งนี้ โดยทั่วไป หุ้นเป็นหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้ แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น หากเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่มีฐานะการเงินที่ไม่ดี แม้จะให้ดอกเบี้ยที่สูง ก็ถือว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนในหุ้นที่ดีๆหลายบริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลในอัตราที่ดี อนึ่ง ภาระภาษีก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม กล่าวคือ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผลของหุ้นเรือกองทุนรวมเพียงร้อยละสิบ ขณะที่ภาระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของเงินฝากหรือตราสารหนี้สูงกว่าอยู่ที่ร้อยละ 15

และคำแนะนำส่งท้ายแต่สำคัญที่คุณไม่ควรมองข้ามก็คือ จงดูแลสุขภาพ กินอาหารที่ดี ออกกำลังสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพทั้งกายและใจที่ดี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจไม่ว่าจะครั้งนี้หรือครั้งไหนๆ